ศัพท์น่ารู้

 

คำศัพท์ที่เกี่ยวกับภิกษุณี

 

โดย ธัมมนันทาภิกษุณี

๖ มกราคม ๒๕๖๐

 

ศัพท์

ความหมาย

สามเณรี

สตรีที่รับการบรรพชา คือบวชเป็นสามเณรี เป็นการบวชขั้นต้น ถือศีล ๑๐
สตรีทุกคน ไม่เกี่ยงอายุ จะเริ่มต้นด้วยการบวชเป็นสามเณรีก่อน  ครองจีวร เหมือนพระ ยกเว้น ยังไม่มีสังฆาฏิ และยังทำสังฆกรรม เช่น พิธีอุปสมบท รับกฐิน ปวารณา ไม่ได้  เพราะถือว่ายังไม่ได้อุปสมบท

สิกขมานา

สตรีที่มีความตั้งมั่นที่จะอุปสมบท คือบวชเป็นภิกษุณีแล้ว อายุไม่น้อยกว่า ๑๘ ปีเมื่อเป็นสิกขมานาแล้วครบ ๒ พรรษา ปวัตตินี ซึ่งเป็นอาจารย์ จะจัดการอุปสมบทให้  การรับเป็นสิกขมานา ต้องประกาศในสงฆ์สองฝ่าย ภิกษุณีสงฆ์อย่างน้อย ๕ รูป ภิกษุสงฆ์ อย่างน้อย ๕ รูป สิกขมานา คือสามเณรีในช่วง ๒ ปีสุดท้าย รับอนุธรรม ๖ คือ ๖ ข้อแรกในศีล ๑๐ รักษาไว้โดยไม่ขาด  หากขาด ก็ต้องเริ่มนับใหม่

ภิกษุณี

สตรีที่มีคุณสมบัติครบ บริสุทธิ์ในอันตรายิธรรม ๒๔ ข้อ คือ ข้อที่จะเป็นอุปสรรคต่อชีวิตการบวช อายุครบ ๒๐ ปี เป็นสิกขมานามาแล้วครบ ๒ พรรษา   มีปวัตตินีที่เป็นอาจารย์ฝึกสอนให้  มีอัฏฐบริขารครบ  ในการอุปสมบทนั้น ผู้ขอบวชต้องแสดงความบริสุทธิ์ในภิกษุณีสงฆ์ แล้วรับการอุปสมบทในภิกษุสงฆ์ ในดินแดนที่ห่างไกล อาจจะมีสงฆ์ทั้งสองฝ่ายเพียงฝ่ายละ ๕ แต่ในดินแดนที่อยู่ส่วนกลาง (มัชฌิมประเทศ) ต้องมีสงฆ์ฝ่ายละ ๑๐ 
ภิกษุณีสงฆ์สามารถประกอบสังฆกรรมได้ทั้งหมด เช่น ปวารณา รับกฐิน แสดงปาฏิโมกข์ เป็นต้น

อันตรายิกธรรม

สำหรับการบวชภิกษุ มีอันตรายิกธรรม ๑๓ ข้อ เช่น ต้องเป็นมนุษย์ ต้องเป็นชาย ได้รับอนุญาตจากบิดามารดา ไม่เป็นหนี้ ไม่หนีราชการ ไม่เป็นโรคติดต่อชนิดต่างๆ ฯลฯ

ในฝ่ายของภิกษุณี มี ๒๔ ข้อ เพิ่มส่วนที่เกี่ยวกับสรีระของผู้หญิง เช่น ไม่มีอวัยวะเพศทั้งสองเพศ ไม่มีประจำเดือนกะปริบกะปรอย ฯลฯ
ในเวลาขอบวช ผู้ขอบวชจะตอบอันตรายิกธรรมในภิกษุณีสงฆ์เท่านั้น จึงจะถือว่าบริสุทธิ์ในภิกษุณีสงฆ์

ปวัตตินี

ภิกษุณีที่มีอายุพรรษาอย่างต่ำ ๑๒ พรรษา ทรงธรรมวินัย สามารถสั่งสอนศิษย์ได้ เป็นผู้รับผิดชอบในการฝึกฝนผู้ขอบวชให้แสดงบริสุทธิ์จากอันตรายิกธรรมในภิกษุณีสงฆ์ และให้เข้ารับการอุปสมบทกับภิกษุสงฆ์

ปวารณา

เมื่อออกพรรษา ทั้งภิกษุและภิกษุณีจะทำการปวารณา คือ เปิดโอกาสให้สงฆ์ที่อยู่ด้วยสอบถามสิ่งที่ได้รู้ ได้เห็น ได้สงสัย เพื่อให้เจ้าตัวได้แสดงความบริสุทธิ์  ภิกษุณีจะปวารณาในภิกษุณีสงฆ์ แล้ว จึงปวารณาในภิกษุสงฆ์ แต่สำหรับภิกษุสงฆ์ แสดงปวารณาเฉพาะในภิกษุสงฆ์

การรับกฐิน

ผู้ที่จะรับกฐินได้ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณี จะต้องอยู่กันเป็นสงฆ์ตลอดพรรษา จึงจะรับผ้ากฐินได้  ถ้าอยู่กันไม่ครบ ๕ รูป ผ้าที่รับจะเป็นผ้าบังสุกุล  ไม่ใช่ผ้ากฐิน

ปาฏิโมกข์

สิกขาบทในส่วนของภิกษุณีมี ๓๑๑ ข้อ หากภิกษุณีอยู่กันอย่างน้อย ๔ รูป เป็นสงฆ์ จึงทำการสวดปาฏิโมกข์ร่วมกันได้ทุกกึ่งเดือน ก่อนที่จะสวดปาฏิโมกข์ต้องรับโอวาทจากพระภิกษุผู้ที่มีพรรษาอย่างต่ำ ๒๐ และเป็นผู้ทรงธรรมวินัย เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากภิกษุสงฆ์ให้สอนภิกษุณี 
ก่อนที่จะสวดปาฏิโมกข์ ภิกษุณีทุกรูปต้องปลงอาบัติเสียก่อน

ปลงอาบัติ

คือ การทำให้อาบัติ (สิ่งที่ได้ล่วงเกินพระวินัย) ให้ตกลง  โดยการสวดสารภาพกับภิกษุณีด้วยกัน  ก่อนการทำสังฆกรรมทั้งหลาย ควรปลงอาบัติเสียก่อน เพื่อให้สังฆกรรมที่จะเข้าร่วมนั้น บริสุทธิ์

การอุปสมบท

เงื่อนไขการอุปสมบทภิกษุณีมีมากกว่าฝ่ายภิกษุ  กล่าวคือ นางผู้ขอบวช ต้องเป็นสิกขมานามาครบ ๒ พรรษา มีปวัตตินี คืออาจารย์ฝ่ายภิกษุณีที่จะฝึกสอน
อายุ ณ วันที่ขออุปสมบท อย่างน้อย ๒๐ ปี มีบาตร จีวรครบ 
จากนั้น แสดงความบริสุทธิ์ในฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ คือ บริสุทธิ์จากอันตรายิกธรรม ๒๔ ข้อ แล้วปวัตตินี หรือภิกษุณีที่เป็นคู่สวด จะนำเข้าไปขออุปสมบทในภิกษุสงฆ์ อย่างน้อย ๑๐ รูป เมื่อผ่านญัตติจตุตถกรรมวาจาแล้ว ถือว่าสำเร็จเป็นภิกษุณี

ญัตติจตุตถกรรมวาจา

คือการสวดประกาศท่ามกลางสงฆ์ ๔ ครั้ง และถามความพร้อมเพรียงในหมู่สงฆ์ ๓ ครั้ง เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน ตัวแทนสงฆ์ก็จะสวดประกาศให้ผู้ขอบวชเป็นภิกษุณีโดยสมบูรณ์

อุปัชฌาย์

คือ ประธานฝ่ายพระภิกษุ เป็นผู้มีพรรษาอย่างต่ำ ๑๐ เป็นผู้ทรงธรรมวินัย สามารถสั่งสอนผู้อื่นได้ เป็นที่เคารพในหมู่สงฆ์  สำหรับประเทศไทย กำหนดเพิ่มว่า ต้องได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ไทยด้วย

 
ทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม ต. พระประโทน อ.เมืองฯ จ.นครปฐม 73000
โทร. (034)258-270 โทรสาร (034) 284-315 E-mail: [email protected]
Copyright (c) 2002-2006 Thai Bhikkhunis All rights reserved.


จำนวนผู้เข้าชม ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2549