Thaimisc.com - Please Ctrl+DBookmark Now!

WEB BOARD


สัมผัส 5 สตรีรางวัลดีเด่น ในพุทธศาสนาแห่งโลก (เป็นกำลังใจ)
ในทุกวันที่ 8 มี.ค. ของทุกปี ซึ่งเป็นวันสตรีสากล คณะกรรมการรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาแห่งโลก มองเห็นความสำคัญของสตรีที่ทำงานเยี่ยงบุรุษ มีความอดทนเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สตรีที่ผ่านการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิแห่งพุทธสาวกในบวรพุทธศาสนา สิทธิแห่งการบวช และสิทธิแห่งภิกษุณีเพศ ต้องถือว่าพวกเธอคือผู้กล้าหาญ ฟันฝ่าด่านอคติสังคมที่ถูกครอบงำโดยเพศตรงข้ามจนสำเร็จ

ณ วันนี้ความสำเร็จทั้งปวงจึงเป็นของเหล่า "ภิกษุณี" สตรีผู้กล้าและเสียสละเพื่อผู้หญิง

เป็นบุคคลที่ควรค่าในการรับรางวัลดีเด่นในพระพุทธศาสนาแห่งโลก

ในปีนี้มีสตรีผู้ทรงเกียรติ 11 คน จากทั่วทุกมุมโลก หลากหลายสาขาอาชีพ ที่ล้วนแต่เป็นผู้เสียสละ และอุทิศชีวิตเพื่อเติมเต็มเจตคติแห่งพุทธศาสนา

จึงเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่เขาเหล่านั้นจะได้รับรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาแห่งโลก ประจำปี 2546

เช้าวันที่ 8 มี.ค. สถานส่งเสริมสถานภาพสตรี ดอนเมือง ถูกใช้เป็นสถานที่มอบรางวัล ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยเหล่าสตรีและบุรุษที่มีใจเปิดกว้างต่อสถานการณ์ความเท่าเทียมและสิทธิแห่งการบวชในโลก

"เราขอแค่พื้นที่ หรือชุมชนใหม่ ที่จะนำผู้หญิงหลุดพ้นจากวังวนแห่งความทุกข์ ไปสู่อีกโลกหนึ่ง ซึ่งเป็นโลกที่ไม่เบียดเบียนกัน

นั่นคือโลกภายใต้บวรพุทธศาสนาแห่งชีวิตภิกษุณี"

คือหนึ่งในแนวคิดของ ดร.กรวิภา บุญซื่อ แห่งยูนิเฟม สหประชาชาติ 1 ในผู้ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาแห่งโลก ประจำปี พ.ศ.2546 จากคณะกรรมการรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาแห่งโลก

ในฐานะผู้เขียนพุทธศาสนากับอคติทางเพศ

ดร.กรวิภา เป็นนักวิชาการที่กระทำกิจกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสตรี และมวลมนุษย์มาโดยตลอด งานเขียนที่ทรงคุณค่ายิ่งคือ "พระพุทธศาสนากับอคติทางเพศ" ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความเชื่อทางวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งความเชื่อดังกล่าวก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการผสมผสานของอุดมการณ์แห่งรัฐ ที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาแห่งรัฐในไทยอีกทีหนึ่ง

ดร.กรวิภา หยิบเอาส่วนหนึ่งของงานวิจัยมาบอกเล่าให้ฟัง ว่า เริ่มต้นงานวิจัยครั้งนี้จากความคิดที่ว่า ทำไมความรุนแรงในประเทศไทยจึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิง ทั้งในสถาบันครอบครัว พ่อตีแม่ ในภาคสังคม ผู้ชายข่มขืนผู้หญิง และในตอนนี้ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ทั่วประเทศคือการฆ่าตัดตอน ซึ่งจากสถิติพบว่าการฆ่าคราวนี้มีผู้หญิงโดนฆ่าตายมากเป็นพิเศษ

"อคติทางเพศ" จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบดังกล่าว และน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นผลสืบโยงมาจนทุกวันนี้ว่า ผู้หญิงไทยไม่สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้ ทั้งที่ในหลักพุทธบริษัท 4 แห่งพุทธศาสนา ประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา แต่ทำไมหลักพุทธบริษัทในประเทศไทยจึงขาดภิกษุณี

"ดิฉันจึงต้องย้อนรอยอดีตไปกับไตรภูมิพระร่วง แหล่งค้นหาแนวคิดทางศาสนาแต่ดั้งเดิม มีส่วนหนึ่งได้อธิบายว่าหากใครเกิดเป็นผู้หญิงถือว่าบุคคลนั้นเป็นคนมีบุญน้อย ยิ่งถ้าเป็นโสเภณีด้วยแล้วยิ่งกลายเป็นคนต่ำต้อย จากความเชื่อดังกล่าวจึงสะท้อนออกมาในรูปของกฎหมาย ดั่งเช่นกฎหมายมโนธรรมศาสตร์ในสมัยอยุธยา ที่ระบุชัดเจนว่าผัวตีเมียเพื่อสั่งสอนได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด และแม้ว่าภายหลังรัชกาลที่ 3 กฎหมายในทำนองให้ประโยชน์กับความรุนแรงจะได้รับการแก้ไขไปพอสมควร กระทั่งวันนี้ไทยมีกฎหมายเอาผิดกับผู้สร้างความรุนแรงในครอบครัวแล้ว แต่ทำไมปัญหาความรุนแรงในสังคมไม่ลดลง อย่าถึงขั้นนั้นเลยแม้แต่พื้นที่จะให้ผู้หญิงได้วางอุเบกขา สร้างอหิงสาก็ยังหายากในสังคม"

นอกจากนี้ ดร.กรวิภา กล่าวอีกว่า เราผู้หญิงรู้ว่า ทางหลุดพ้นไม่ได้มีแค่หนทางเดียวคือการบวชเป็นภิกษุณี แต่เราก็จำเป็นต้องสู้เพื่อให้มีพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา ที่สำคัญ เราอยากให้พุทธศาสนาได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างแท้จริง

คุณสนิทสุดา เอกชัย อีกหนึ่งในผู้รับรางวัล ในฐานะนักข่าวสตรีในพระพุทธศาสนาดีเด่น ซึ่งในขณะนี้คุณสนิทสุดา ทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ผลิตงานเขียนเฉพาะด้าน โดยเฉพาะด้านพัฒนาชนบท พระพุทธศาสนาของไทย และความเสมอภาคทางเพศ

คุณสนิทสุดา ย้ำชัดเจนถึงบทบาทสื่อต่อการนำเสนอปัญหาทางศาสนา ว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือเข้าใจในคำสั่งสอนของศาสนา เพื่อให้เข้าใจถึงรากฐานของสังคม และปัญหาที่เกิดกับศาสนานั้นเกิดจากอะไร เพราะคำสั่งสอน หรือการนำมาปฏิบัติใช้ของคน และเมื่อตนเองเป็นหญิงจึงต้องชัดเจนว่าสถานะของผู้หญิงควรทำอะไรได้บ้าง เมื่อมีความรู้ก็สามารถนำไปถกเถียงหรือรายงานข่าวด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อสร้างความแตกแยกและสร้างอคติต่อผู้หญิงในสังคมเพิ่มขึ้นไปอีก

อีกบทบาทของผู้ได้รับรางวัล ภิกษุณี อัมพิกา คูวินิชกุล หรือ "เมี่ยวเสิ้น" หญิงสาววัย 29 ปี จากนครศรีธรรมราช ที่ต้องเดินทางไปอุปสมบทตัวเองเป็นภิกษุณี ไกลถึงไต้หวัน ด้วยจุดประสงค์เดียวคืออุทิศตนตามรอยของพระโพธิสัตว์กวนอิม เพื่อรับใช้พุทธธรรมในพุทธมหายานตลอดไป

ภิกษุณี อัมพิกา เล่าให้ฟังถึงเหตุที่ทำให้ตนเดินในเส้นทางสายธรรม ว่า มีอยู่วันหนึ่งในช่วงมัธยมต้น คุณครูให้เขียนประวัติชีวิตตนเอง ก็เขียนไปเรื่อยจนถึงส่วนที่ว่านับถือศาสนาพุทธ ก็เกิดคำถามว่าตนเป็นชาวพุทธจริงหรือ แล้วที่ผ่านมาทำอะไรให้ศาสนาของเราบ้าง จึงตั้งต้นหาคำตอบ ขณะเดียวกันก็ปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่น

ถึงวันนี้ตนดีใจที่รู้ว่าเป็นชาวพุทธ จึงอยากเชิญชวนน้องๆ เยาวชน ที่เป็นชาวพุทธจงมั่นใจในศาสนาของตน ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนักบวช แต่ศึกษาธรรมะเพื่อให้รู้เท่าทันและรอดพ้นจากภัยในสังคมปัจจุบัน เช่น ภัยจากยาเสพติด ที่หลายคนเข้าใจว่าเสพแล้วจะคลายทุกข์ แท้จริงแล้วเป็นแค่สิ่งบรรเทาชั่วคราวเท่านั้น ไม่ถาวรเลย

ทั้งนี้สตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาแห่งโลก ยังมีอีก 8 ท่านคือ อาจารย์มันตา หอรัตนชัย รับรางวัลด้านอาจารย์วิปัสสนากรรมฐาน แม่ชี ดร.ไพเราะ ทิพยทัศน์ ด้านธรรมาจารย์แห่งสวนโมกข์นานาชาติ และผู้นำทางจิตใจแห่งวิทยาลัยมหาปชาบดีเถรี

แม่ชีจุติภา ทรรพสุทธิ์ ด้านการบริการชุมชนแก่เด็ก ธรรมสถานสำหรับเด็กกำพร้าในกาญจนบุรี วุฒิสมาชิก ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ด้านการเมืองด้านสิทธิสตรีในพระพุทธศาสนา ดร.โทโมมิ อิโตะ จากญี่ปุ่น ด้านความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเสวนาพุทธปรัชญาในเอเชียอาคเนย์

ภิกษุณี ดร.ยิฟา จากอเมริกา ด้านผู้นำศูนย์วัฒนธรรมพระพุทธศาสนาแห่งบอสตัน และผู้เขียนการปกป้องคุ้มครองใจ ทรรศนะของชาวพุทธต่อความทุกข์และโศกนาฏกรรม 11 กันยายน ภิกษุณี เทนชิน คาโช จากอเมริกา ด้านการก่อตั้งชุมชนชาวพุทธ และการเผยแพร่พุทธธรรมสู่สถาบันทหารอากาศแห่งอเมริกา และเวคาดา ภัทรา ภิกขุณี จากศรีลังกา ด้านผู้นำชุมชน และผู้เขียนการบวชสตรีในพระพุทธศาสนา

ต้องยกย่องให้ทุกท่านเป็นผู้หญิงเก่ง ที่ชัดเจนในมุมของพระพุทธศาสนาโดยแท้

โดยคุณ : เต่าน้อย (ข่าวสด) - [ 18 เม.ย. 2003 , 21:29:19 น. ]

ตอบ
วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2546 ปีที่ 12 ฉบับที่ 4492
สัมผัส 5 สตรีรางวัลดีเด่น ในพุทธศาสนาแห่งโลก


สกู๊ป
โดย เรืองอุไร เพชรสังข
โดยคุณ : มาตร - [ 23 เม.ย. 2003 , 14:23:35 น.]

ตอบ
ความจริงแล้วประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ยกย่องสตรีว่าเป็นเพศที่มีความสำคัญมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกทีเดียว ในหมู่อารยะชนแล้วทราบกันดีอย่างกว้างขวางว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ยกย่องให้เกียรติสตรีด้วยถือว่าเป็นเพศแม่ เป็นผู้ที่ให้กำเนิด และถือว่าเป็นเพศที่ยังประโยชน์สุขแก่ทุกสิ่งมาโดยตลอด ก็เนื่องมาจากศาสนาพุทธที่ถือเป็นรากเหง่าและต้นหน่อทางความคิดของคนไทยมาโดยสายเลือด ผิดกับลัทธิอื่นๆ ประเทศอื่นๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศในแถบตะวันออกกลาง ประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน อินเดีย อินโดนิเชีย แม้ประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาเองก็ตาม บางประเทศไม่สามารถพบเห็นสตรีบนท้องถนนได้ก็มี จะมีก็ประเทศไทยนี่แหละ สามีที่ดีจะยกย่องภริยาของตนเหนือสิ่งอื่นใดซึ่งหาจากมนุษย์เชื้อชาติอื่นได้ยาก และประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดวีระสตรีมากมายมาแต่ครั้งอดีตแล้ว ด้วยทัศนะที่มีต่อหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ในแต่ละเพศที่ได้จัดสรรไว้แล้วอย่างลงตัวภายใต้พื้นฐานทางความคิดแบบพุทธะ

ทีนี้มาพูดถึงความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิง หากจะพูดให้ถูกในสังคมไทยแม้ในอดีต ก็ไม่เคยยกย่องพฤติกรรมเช่นว่านี้เลย ความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิงในสถาบันครอบครัว พ่อตีแม่ ผู้ชายข่มขืนผู้หญิง ว่าไปแล้วสิ่งเหล่านี้ล้วนมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งสองเพศ สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทยมาช้านานแล้ว เป็นด้านลบที่เกิดคู่กับโลกใบนี้มานานแสนนานหาได้เพิ่งมาเกิดขึ้นไม่ และก็มิได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้นเมื่อเทียบกับสังคมโลกแล้ว ประเทศไทยถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี พฤติกรรมนี้ถือเป็นด้านมืดที่ต้องกำจัดเสียให้สิ้น สิ่งเลวทรามเหล่านี้มีอยู่คู่โลกมานานแล้วเฉกเช่นขาวกับดำ ถือเป็นสภาวะธรรมหนึ่งซึ่งผู้เข้าใจธรรมะย่อมเข้าใจสภาวะธรรมนี้ดี ขอให้วิเคราะห์ให้ถูก และแยกแยะให้ออก หากสังคมไทยเห็นว่าด้านมืดนี้เป็นสิ่งที่น่ายกย่องแล้วละก็ เมื่อนั้นแหล่ะน่าเป็นห่วงทีเดียวจะเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงนัก แต่ความจริงมีอยู่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนเป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่ยอมรับเลย กลับถือว่าเป็นความชั่วร้ายที่ไม่ควรกระทำด้วนซ้ำ ดังนั้นกระทู้ที่ว่าสังคมไทยไม่ยกย่องสตรีเพศจึงถือเป็นสมมติฐานที่ผิด ไม่ถูกต้องแต่เริ่มตั้งหัวเรื่องแล้ว การคิดนำเอาพระพุทธศาสนามาเชื่อมโยงกับการมีอคติทางเพศนั้นจึงถือเป็นการเขียบแบบจับแพะชนแกะที่สับสน ถือเป็นการบิดเบือนต่อพระธรรมเพียงเพื่อจะนำโยงเข้าเรื่องการที่ผู้หญิงไม่สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้ ซึ่งถือเป็นคนละเรื่องกัน เพราะการไม่ยอมรับการบวชภิกษุณีที่ถูกต้องนั้นแท้จริงแล้วมีเหตุผลที่ละเอียดแยบคายในทางพุทธรรมที่สืบทอดกันมาตามพระวินัย หาใช่เป็นเหตุผลทางโลกที่ได้พยายามเชื่อมโยงนี้ไม่

เมื่อทราบถึงต้นเหตุต้นตอและที่มาที่ไปที่ถูกต้องแล้วก็จะสามารถแก้ไขปัญหาสังคมดังกล่าวด้วยการรณรงค์ได้อย่างถูกต้องและถึงต้นตอของปัญหา ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการรณรงค์ให้รักษาศีลอย่างเคร่งคัด ไม่รังแกซึ่งกันและกัน ไม่พรากของรักของหวงกัน ไม่นอกใจกัน ไม่พูดปลดมดเท็จ ไม่ดื่มสุรายาเสพติด จริงอยู่การรณรงค์เช่นนี้ก็มิใช่ของง่ายเลยที่จะให้ประพฤติกันทั้งสังคมได้ กว่าจะถึงวันนั้นคงต้องรอให้ถึงยุคพระศรีอาริยะกันละกะมัง ที่ทุกคนมีความเหมื่อนกันหมด รวมถึงการเรียกร้องความเท่าเทียมใดๆในโลกนี้ด้วย พุทธะขอให้ทำใจได้ เพราะเราพุทธะเข้าใจดีว่า บัวมีทั้งสิ้น 4 เหล่า 4 กอ แต่หากรณรงค์เรื่องการประพฤติศีล 5 กันได้มากเท่าไรก็จะยิ่งทำให้แก้ปัญหาได้ถูกจุดมากขึ้นเท่านั้น หาใช่ต้องมาเชื่อมโยงโทษพระธรรมว่ามีส่วนในเรื่องอคติทางเพศนั้นไม่ถูกต้องเลย และมาเรียกร้องความเท่าเทียมซึ่งความจริงมีอยู่แล้วอย่างเหมาะสมในสังคมพุทธ

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็เพียงต้องการชี้แจงความถูกต้อง และก็เพื่อต้องการให้สตรีไทยที่กำลังคิดว่าตนนั้นน่าสงสาร ไร้ที่อยู่ มีศักดิ์และสิทธิที่ด้อยค่าเหลื่อเกินในสังคมไทยให้ระลึกถึงความจริงที่ถูกต้อง เพื่อจะได้มีจิตใจที่ผ่องใส ซึ่งถือเป็นข้อสำคัญของวิถีแห่งชาวพุทธที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ในโอวาทปาฏิโมกถึงหัวใจหลักของชาวพุทธ 3 ข้อ อันได้แก่ 1.) การละความชั่วทั้งปวง 2.) การทำความดีให้ถึงพร้อม และ 3.)การทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบานเสมอ ทั้ง 3 ข้อนี้ย่นย่อมาจาก 84,000 พระธรรมขันต์ จงภูมิใจเถิดที่ได้มาปฏิสนธิในแดนนี้ เป็นมหากุศลนักแล้ว อย่ามีจิตใจที่หมองเศร้าโดยใช่เหตุไปเลย ไม่ว่าเพศชายหรือเพศหญิง เราต่างก็มีที่มาที่ไปกันมาทั้งนั้น มนุษย์เราแต่ละผู้ย่อมมีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ใครทำกรรมอันใดไว้ ย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้นทั้งสิ้น

สุดท้ายนี้ ในทางโลกแล้วใคร่ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของแต่ละท่านในการได้รับรางวัลใดๆก็ตาม ตามแต่ทางโลกจะสรรหาได้ด้วยความจริงใจ และขอให้ตั้งใจประพฤติธรรมกัน ที่สุดแล้วจะพบว่าใดๆในโลกล้วนอนิจจัง ชาตินี้เกิดเป็นหญิง ชาติหน้าก็เกิดเป็นชาย ชาตินี้เกิดเป็นชาย ชาติหน้าก็เกิดเป็นหญิงได้ ทุกสิ่งหามีแก่นสานไม่ อย่ายึดมั่นถือมั่นเลย

ขอให้โชคดี
โดยคุณ : อิทธิพงศ์ - [ 23 เม.ย. 2003 , 19:40:41 น.]

ขอเชิญร่วมเสนอแนะความคิดเห็นครับ
จาก :
email :
icq :
รายละเอียด



กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียวครับ....