เสริมกระทู้ สว. ของคุณทนายน้อย
เรียนคุณทนายน้อย..บังเอิญมีข้อมูลที่พระอาจารย์ธัมมนันทาได้กรุณาให้รายละเอียดไว้เกี่ยวกับวาทะกรรมที่เข้าใจผิดในเรื่องของภิกษุณี ที่เป็นประเด็นค้างคาใจของชาวพุทธฯ จึงขอนำมาฝากไว้ให้ทุกท่านที่สนใจในเรื่องของการบวชภิกษุณีได้เข้าใจให้กระจ่างชัดมากขึ้นดังต่อไปนี้ค่ะ... คำอธิบายกรณีข้อสงสัยและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการบวชภิกษุณี
คณะอนุกรรมการฝ่ายกิจการสตรี สภาผู้แทนราษฎร มีการนำประเด็นเรื่อง ภิกษุณี เข้าสู่ที่ประชุมตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2545 ซึ่งจะมีการประชุมกันมาแล้วหลายครั้งหลายครา ก็ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องในหลายประเด็น บทความต่อไปนี้ คือสิ่งที่พระอาจารย์ธัมมนันทา ได้ตอบกระทู้ของ ฯพณฯรองนายกรัฐมนตรี ดร.วิษณุ เครืองาม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 โดยเป็นการตั้งกระทู้ของ ส.ว. ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ประธาน อนุกรรมาธิการด้านสตรีฯ ซึ่งเมื่ออ่านได้จะทำให้เข้าใจเรื่องการสถาปนาภิกษุณีสงฆ์ได้ชัดเจนขึ้น
ความคลาดเคลื่อนที่ 1: การบวชภิกษุณี ต้องบวชโดยสงฆ์สองฝ่าย คือบวชโดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายหนึ่ง และบวชโดยภิกษุณีสงฆ์อีกฝายหนึ่ง
คำอธิบาย: การบวชภิกษุณีสงฆ์ครั้งแรกนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาตให้พระแม่น้านางมหาปชาบดีโคตมีบวชโดยการรับครุธรรม 8 ส่วนนางสากิยานีที่ติดตามพระนางมา 500 นางนั้น มอบหมายให้พระภิกษุสงฆ์บวชให้ (ภิกษุณีขันธกะ พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 หน้า 321 บรรทัดที่ 2 และ 3) จึงปรากฏชัดเจนในพระไตรปิฎกว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุบวชภิกษุณี พระภิกษุสงฆ์ก็บวชภิกษุณีมาตลอด ต่อมาได้มีกรณีเกิดขึ้นว่าผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้ามาขอบวชไม่สามารถจะตอบอันตรายิกธรรมได้ในคณะสงฆ์ (อันตรายิกธรรมสำหรับภิกษุณีสงฆ์มี 24 ข้อ ถามถึงเรื่องสรีระ เพศสรีระ เช่น มีประจำเดือนไหลออกมาตลอดเวลาหรือเปล่า มีอวัยวะเพศสองแห่งหรือผิดปกติหรือเปล่า) ซึ่งปรากฏว่าผู้ที่ขอบวชเกิดความอายเมื่ออยู่ต่อหน้าภิกษุสงฆ์ จึงไม่ตอบ เมื่อไม่ตอบจึงเป็นอุปสรรคต่อการบวช บรรดาพระภิกษุสงฆ์ที่ให้การบวชแก่ภิกษุณีรูปนี้ จึงไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่าจะทรงแก้ไขอย่างไร สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตว่า ในกรณีเช่นนี้ให้ฝ่ายพระภิกษุณีสงฆ์ซักถามอันตรายิกธรรมกับผู้หญิงที่ต้องการบวชเสียก่อน เมื่อปราศจากอุปสรรคแล้ว จึงส่งเข้ามาบวชในคณะภิกษุสงฆ์
จึงต้องทำความเข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้ว การบวชภิกษุณีสงฆ์เป็นสังฆกรรมครั้งเดียวที่ทำโดยภิกษุสงฆ์ การที่ให้ภิกษุณีสงฆ์เข้ามาซักถามอันตรายิกธรรมนั้น ไม่ใช่สังฆกรรม แต่เป็นเพียงส่วนของขั้นตอนที่จะเตรียมสังฆกรรมโดยที่ภิกษุสงฆ์จะเป็นฝ่ายทำในขั้นสุดท้าย การเรียกว่าบวชโดยสงฆ์สองฝ่ายจึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง
ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ หากให้ภิกษุณีสงฆ์ทำสังฆกรรมอุปสมบทให้ครั้งหนึ่งแล้ว และให้ภิกษุสงฆ์มาทำสังฆกรรมเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง ต้องแสดงว่าสังฆกรรมอันแรกนั้นผิด ต้องมีการยกเลิกสังฆกรรมแรกก่อนจึงจะสามารถมาทำสังฆกรรมหลังได้ เพราะเป็นการทำสังฆกรรมซ้ำ ความเข้าใจเรื่องการบวชสองครั้งหรือบวชโดยสงฆ์สองฝ่ายจึงไม่ถูกต้อง
เงื่อนไขของการเป็นปวัตตินีซึ่งจะเป็นผู้จัดการซักถาม เป็นอุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุณีต้องมีอายุของการเป็นภิกษุณีมาไม่ต่ำกว่า 12 ปี เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ รู้พระธรรมวินัยดีและได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ ส่วนเงื่อนไขเรื่องการบวชให้ได้ปีเว้นปีนั้น อยู่ในพระวินัย เป็นเหตุผลของการจัดหาที่พักให้ภิกษุณี ซึ่งมีจำกัด แต่เงื่อนไขนี้น่าจะปรับได้ตามบริบทที่เหมาะสม ต้องทำความเข้าใจว่าในสมัยพุทธกาล เหตุผลที่บัญญัติเช่นนั้น เพราะใช้ในบริบทของเวลานั้น ซึ่งเมื่อบริบทในสมัยนี้เปลี่ยนไป ก็ไม่มีเหตุผลที่จะนำเงื่อนไขนั้นมาใช้
ความคลาดเคลื่อนที่ 2: การสืบสายภิกษุณีสงฆ์นั้นสูญสิ้นไปแล้ว
คำอธิบาย: ในพ.ศ. 300 เมื่อพระเจ้าอโศกส่งธรรมทูตออกไป 9 สาย สายหนึ่งได้ส่งพระมหินท์เถระ ซึ่งเป็นพระโอรส ลงไปเผยแผ่ศาสนาในศรีลังกา ต่อมาพระนางอนุฬา ซึ่งเป็นสะใภ้ของพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะแห่งศรีลังกาขอบวช พระมหินท์เถระจึงทูลพระเจ้าเทวนัมปิยะติสสะให้แต่งคณะทูตขอภิกษุณีสงฆ์ลงมาจากอินเดีย เรียกได้ว่าเป็นการสืบสายภิกษุณีสงฆ์ในต่างประเทศเป็นครั้งแรก คือจากอินเดียไปศรีลังกา ในปีพ.ศ 976 ได้มีการส่งภิกษุณีสงฆ์จากศรีลังกาไปประเทศจีน และไปบวชให้ภิกษุณีจีนที่วัดป่าใต้ เมืองนานกิงถึง 300 รูป หลักฐานปรากฏในหนังสือภาษาอังกฤษชื่อ Buddhist Texts Through the Ages (หน้า 291-295: 1964) โดย Edward Conze ต่อมาในพ.ศ. 1560 เมื่ออินเดียใต้โจมตีศรีลังกาทำให้ศาสนาพุทธหมดไปทั้งคณะภิกษุและภิกษุณีสงฆ์ เป็นเวลาที่ศรีลังกาว่างเว้นจากพุทธศาสนานานถึง 50 ปี เมื่อมีการรื้อฟื้นพระศาสนาขึ้นใหม่ ได้มีการสืบสายพระศาสนาไปจากประเทศไทย แต่เนื่องจากประเทศไทยมีเฉพาะพระภิกษุ จึงมีการบวชภิกษุใหม่โดยพระอุบาลีซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ที่ส่งไปในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายสมัยอยุธยา จึงถือเป็นการเริ่มต้นสยามวงศ์ในศรีลังกา ส่วนสายการบวชของภิกษุณีสงฆ์จากศรีลังกาที่ไปบวชให้ที่ประเทศจีนและได้สืบสายต่อการบวชไปที่ประเทศเกาหลี และประเทศอื่นๆ ในตะวันออกไกลนั้น ได้ย้อนกลับมาบวชภิกษุณีสงฆ์ให้ที่ศรีลังกา ทั้งนิกายสยามวงศ์และอมรปุระ จึงมีการบวชภิกษุณีทั้งสิ้น
จึงกล่าวได้ว่า พระภิกษุของนิกายสยามวงศ์นั้น บวชไปจากคณะสงฆ์ไทย และในเวลานี้ การบวชภิกษุณีในศรีลังกาก็ทำโดยคณะภิกษุสงฆ์สยามวงศ์ พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ยอมรับการบวชนี้ ดังนั้น การถือสายการบวชจึงต้องถือตามภิกษุสงฆ์ที่เป็นผู้ทำสังฆกรรมขั้นสุดท้ายของการบวชภิกษุณี ตามการสืบสายของประวัติศาสตร์แล้ว มีการสืบสานพระศาสนาจากศรีลังกา มาประเทศไทย และกลับไปศรีลังกา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะปฏิเสธประวัติศาสตร์ของการสืบสายจากศรีลังกา
ความคลาดเคลื่อนที่ 3: การจำกัดสิทธิในการบวชภิกษุณีเพราะขัดพระธรรมวินัย
คำอธิบาย: ตามที่คณะสงฆ์ไทยแบบเถรวาทซึ่งถือตามข้อตกลงของการปฐมสังคายนาว่าจะไม่มีการเพิกถอนพระธรรมวินัยและไม่มีการเพิ่มเติมนั้น จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ไม่เคยทรงเพิกถอนอนุญาตให้มีการบวชภิกษุณีโดยภิกษุสงฆ์ จึงเท่ากับว่าภิกษุสงฆ์ยังมีสิทธิบวชภิกษุณีอยู่เช่นเดิมตามสิทธิพุทธบัญญัติโดยไม่ผิดพระธรรมวินัย และเป็นการถือตามพุทธานุญาตที่มีอยู่เดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามคือ คำสั่งของสมเด็จพระสังฆราช ปีพศ. 2471 ที่ห้ามไม่ให้พระภิกษุบวชผู้หญิงเป็นภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี มิใช่เป็นการเพิ่มเติมหรือ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะเป็นการขัดต่อมติของเถรวาท
คำสั่งปีพ.ศ. 2471 เป็นคำสั่งที่เกิดขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ. 2475 คำสั่งเดิมก่อนหน้านี้จึงน่าจะตกไปโดยปริยาย นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังถือว่าขัดต่อปรัชญาพื้นฐานของรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2540 มาตรา 38 ซึ่งโดยหลักการแล้วกฎหมายใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญย่อมต้องตกไปตามปริยาย เพราะขัดกับกฎหมายและเป็นการกีดกันไม่ให้สิทธิแก่ผู้หญิงได้บวชในแผ่นดินไทยโดยคณะสงฆ์ไทย
ความคลาดเคลื่อนที่ 4: การจำกัดการบวชภิกษุณีให้อยู่แต่ในสายมหายาน
คำอธิบาย: องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณีได้โดยไม่ได้เคยบัญญัติว่า ต้องบวชในสายมหายานเท่านั้น เรื่องของความแตกต่างระหว่างสายเถรวาทและมหายานนั้นเป็นเรื่องของการตีความพระธรรม ไม่ใช่อยู่ที่การถือปฏิบัติตามพระวินัย เรื่องการบวชเป็นเรื่องของพระวินัย มหายานก็ถือวินัยของเถรวาท ความแตกต่างจึงอยู่ที่การตีความพระธรรมที่ขึ้นอยู่กับบริบทของภูมิประเทศ บริบทของแนวคิดปรัชญาบางประการเท่านั้น แต่เรื่องของการบวชนั้นเป็นเรื่องของการถือตามพระวินัย การบวชของภิกษุณีจีนในทุกวันนี้ก็เป็นการถือตามนิกายธรรมคุปต์ ซึ่งเป็นนิกายย่อยไปจากสายเถรวาท ในสมัยของพระเจ้าอโศกมีการแบ่งแยกนิกายย่อยไปจนถึง 18 นิกาย ฝ่ายเถรวาทมี 12 นิกาย โดยที่ธรรมคุปต์เป็นหนึ่งใน 12 นิกายนั้น
ความคลาดเคลื่อนที่ 5: เงื่อนไขของครุธรรม 8 ที่ต้องการจำกัดการบวชของภิกษุณี
คำอธิบาย: มีข้อสังเกตที่น่าสนใจจากพระอาจารย์ขันติปาโล ซึ่งเป็นพระภิกษุชาวอังกฤษที่บวชโดยสมเด็จพระสังฆราชแห่งวัดบวรฯ ได้ชี้ประเด็นว่าครุธรรม 8 ไม่น่าจะใช่เงื่อนไขที่พระพุทธองค์มอบให้แก่พระแม่น้านางมหาประชาบดีโคตมี เพราะตอนที่ให้พระแม่น้านางบวชนั้น ยังไม่มีสิกขมานา คือทรงให้บวชเป็นภิกษุณีเลย สิกขมานาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังมาก แต่ในครุธรรม 8 มีข้อกำหนดว่าผู้หญิงต้องบวชเป็นสิกขมานาก่อน 2 ปีจึงจะบวชเป็นภิกษุณีได้ ท่านขันติปาโลจึงทำความเข้าใจว่า พระภิกษุที่เป็นผู้บันทึกพระไตรปิฎกในสมัยหลังเห็นว่าการอ้างครุธรรม 8 เป็นกลยุทธที่จะจำกัดสิทธิของภิกษุณีได้ จึงยกเอาครุธรรม 8 มาอ้างว่าเป็นพุทธบัญญัติตั้งแต่ต้น จึงเป็นข้อสังเกตที่น่าจะนำมาศึกษาพิจารณา
การที่มีผู้อ้างว่า ครุธรรม 8 เป็นกลไกที่พระพุทธองค์ต้องการจำกัดสิทธิของภิกษุณีไม่ให้ขยายเติบโตออกไปนั้น ต้องถือว่าเป็นการจ้วงจาบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะหากไม่มีพระประสงค์ที่จะให้ผู้หญิงบวช ก็ไม่มีความจำเป็นที่พระองค์จะต้องทำด้วยความจำใจด้วยการให้ผู้หญิงบวชตั้งแต่ต้น ที่จริงแล้วการให้ผู้หญิงบวชพร้อมกับทรงรับรองว่าผู้หญิงมีความสามารถและศักยภาพที่จะบรรลุธรรมได้ทัดเทียมผู้ชาย เป็นความงามที่สุดประเด็นหนึ่งของพระพุทธศาสนา เพราะไม่มีศาสนาใดที่จะรับรองถึงขนาดนี้ ธรรมะสูงสุดของศาสนาพุทธนั้นไปพ้นจากข้อจำกัดในทางวรรณะ เพศ สีผิว เชื้อชาติ เป็นสิ่งที่ทำให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของโลก ดังนั้น วิธีการของกลุ่มคนในปัจจุบันที่พยายามจะตีกรอบให้ศาสนาพุทธแคบลงนั้น เป็นวิธีการที่รุกรานและไม่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ความคลาดเคลื่อนที่ 6: รัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการในศาสนา การบวชภิกษุณีเป็นเรื่องของสงฆ์
คำอธิบาย: ตามที่ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าเรื่องการบวชภิกษุณีนั้น เป็นเรื่องของคณะสงฆ์ รัฐไม่สามารถที่จะรับรอง หรือกีดกัน หรือจัดการบวชให้ได้นั้น ต้องทำความเข้าใจว่า เรื่องของพระศาสนานั้น มีผู้รับผิดชอบด้วยกัน 4 ฝ่าย คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา การที่รัฐบอกว่าให้ศาสนาเป็นผู้ตัดสิน แต่องค์กรศาสนาในประเทศไทยนั้นมีเฉพาะภิกษุสงฆ์ จะทำให้การพิจารณาไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงอยากเรียนเสนอทางฝ่ายรัฐว่าเพื่อให้บริบทและโอกาสของการบวชของผู้หญิงเป็นไปตามเจตนารมณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงควรมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา หาข้อมูลประเด็นนี้อย่างชัดเจน เป็นการสนับสนุนการทำงานของคณะสงฆ์ด้วย เพราะการที่บอกว่าให้คณะสงฆ์ไปพิจารณาศึกษานั้น บางครั้งคณะสงฆ์ก็ไม่มีกลไกที่จะศึกษาอย่างสมบูรณ์เพียงพอ อาจจะนำไปสู่การสรุปที่ก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนข้อเท็จจริง และไม่ตรงกับเจตนารมณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมวินัยได้ การที่รัฐปล่อยให้ฝ่ายศาสนาตัดสินกันเอง ในภาคปฏิบัติจะกลายเป็นว่ารัฐส่งเสริมให้เกิดความไม่ชอบธรรมขึ้นในองค์กรพระศาสนา คณะกรรมการของฝ่ายรัฐที่จะจัดตั้งขึ้น ควรประกอบด้วยพระภิกษุสงฆ์ นักวิชาการที่มาจากสายต่างๆ ซึ่งมีองค์ความรู้ที่หลากหลาย เพราะหากให้พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ศึกษาอย่างเดียวจะมีข้อจำกัดตรงที่การศึกษาของสงฆ์ในประเทศไทยยังเป็นการศึกษาแบบด้านเดียว ที่ไม่ได้มีการมองออกไปนอกบริบทของพระไตรปิฎก ซึ่งพระไตรปิฎกไม่ได้พูดถึงการสืบสายพระภิกษุณีสงฆ์ จึงไม่น่าจะเพียงพอที่จะนำมาเป็นข้อมูลหลักในการสรุปผลการศึกษา
หมายเหตุ การพิจารณาเรื่องภิกษุณี มีความจำเป็นต้องมองออกไปนอกบริบทของสังคมไทย โดยเฉพาะการศึกษาถึงบทบาทและความเคลื่อนไหวของคณะภิกษุณีสงฆ์ทั่วโลก และการประชุมขององค์กรศาสนาโลกต่างๆ เช่น การประชุมสตรีผู้นำศาสนาและผู้นำทางจิตวิญญาณที่อาคารที่ทำการสหประชาชาติ กรุงเจนีวา ในช่วง 6-9 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งบทบาทของภิกษุณีสงฆ์เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก และมีส่วนในการจรรโลงสันติภาพของโลกได้อย่างชัดเจน
ขออนุโมทนากับความสนใจของชาวพุทธที่ท่านที่แวะเวียนเข้ามาแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ดแห่งนี้ค่ะ.... โดยคุณ : พิมพ์พัณธุ์ -
[ 8 ม.ค. 2003 , 22:23:03 น. ]
|