ศากยะธิดา

ศากยะธิดา ตอนที่ ๑

ฉัตรสุมาลย์

กลุ่มผู้ที่สนใจเรื่องสตรีชาวพุทธนานาชาตินั้น เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วง ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ มีการติดต่อกันข้ามประเทศ ข้ามทวีป ติดต่อกันไปมา ขยายวงกว้างขึ้น และถี่ขึ้น จนในท้ายที่สุด ไปลงตัวอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดการประชุมนักบวชสตรีชาวพุทธนานาชาติ  ค.ศ.๑๙๘๗ เป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของสตรีชาวพุทธ  ก่อนหน้านั้น มีสตรีชาวพุทธที่เป็นผู้นำทางความคิดอยู่บ้าง  แต่ยังไม่เป็นขบวนการชัดเจน

การประชุมนานาชาติครั้งนั้น  มีผู้ร่วมงาน ๓ ท่าน  คือท่านภิกษุณีกรรมะ เล็กเช โสโม ชาวอเมริกัน ออกบวชในสายธิเบต ขณะนั้นศึกษาอยู่ที่ธารัมศาลา ศูนย์กลางของชาวพุทธธิเบต เพราะองค์ทะไลลามะก็ประทับอยู่ที่นั่น ท่านที่สองคือ อายะเขมา เป็นชาวเยอรมัน แต่ขณะนั้น พยายามที่จะตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมที่เกาะเล็กๆในศรีลังกา  และคนที่สาม คือผู้เขียนเอง รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์

จุดที่เราคิดว่าน่าจะเหมาะสมที่สุดกับการเริ่มต้นพลิกหน้าประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในยุคนั้นคือที่พุทธคยา สถานที่ที่พระมหาโพธิสัตว์ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ  คนที่เป็นคนวิ่งเต้นเตรียมการในท่องที่ คือ ภิกษุณีกรรมะ เล็กเช โสโม (ต่อไปจะขอเรียนท่านว่า ท่านเล็กเช)

เราตอบโจทย์ได้แล้วว่า ควรจะเป็นที่ใด ต่อไปเราก็คิดว่า ควรจะเป็นเมื่อใด เราปักธงการประชุมในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๘๗ (พ.ศ.๒๕๓๐) เป็นการจัดงานต่อจากช่วงเวลาที่องค์ทะไลลามะมีงานกาลจักรที่พุทธคยาเป็นประจำ

งานกาลจักรนั้น ผู้คนหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศจำนวนเป็นหมื่น เราคาดหวังว่า หากเราจัดงานต่อจากกาลจักรทันทีอาจจะมีคนที่มางานกาลจักรอยู่ประชุมต่อกับเราก็ได้

คิดถูก ใช่เลยค่ะ พิธีเปิดงานการประชุมนานาชาตินักบวชสตรี (International Conference on Buddhist Nuns) องค์ทะไลลามะเสด็จมาเปิดงานตามคำทูลเชิญ ของคณะกรรมการจัดงาน  เราอาศัยเต๊นท์ของกาลจักรนั่นแหละค่ะ  มีคนมาร่วมในวันเปิดเป็นพันคนทีเดียว  มีผู้ที่ร่วมลงทะเบียนเข้าประชุมจาก ๒๔ ประเทศ แม้จะเป็นงานของนักบวชสตรีชาวพุทธ แต่มีพุทธบริษัท ๔ ครบ  แม้ตอนจัดงานก็มีพระภิกษุมาช่วยแบกขนโต๊ะในการเตรียมงานด้วย

ในพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน  ช่วงนั้นท่านเสด็จทุกปี ท่านว่าทุกครั้งที่เสด็จพุทธคยา  ท่านจะเป็นหวัดเสมอ แต่ครั้งนั้น (ต้นเดือนกุมภาพันธ์)  ท่านไม่เป็นหวัด ท่านรับสั่งเอาใจภิกษุณีว่า อาจจะเป็นเพราะได้พลังกุศลจากการจัดงานประชุมของนักบวชสตรีชาวพุทธ 

สมเด็จมหาโฆษะนันทะจากเขมรอุตส่าห์พาแม่ชีเขมรมาร่วมงานเพื่อแสดงความมีส่วนร่วมในงานขอองสตรีชาวพุทธ  โดยหวังว่า จะให้เป็นการเปิดหูเปิดตาแก่แม่ชีด้วย

ที่จำเรื่องราวได้ชัดเจน เพราะต้องเบิกผ้าห่มถวายท่านเพิ่ม ช่วงนั้นเป็นหน้าหนาว  ผู้เขียนไปนอนที่เก้สต์เฮ้าส์ของรัฐบาลที่อยู่ถัดวัดไทยออกไป

ก่อนงาน เราตั้งปะรำประชาสัมพันธ์งานที่หน้าวัดศรีลังกาในปัจจุบัน  ยังจำได้ว่า  มีทัวร์ไทยนำโดยคุณธัมมา (อดีตธัมมานันทะ) แวะมาร่วมทำบุญด้วย

จากการประชุมคราวนี้ ในตอนเสร็จงาน คณะผู้จัดได้เข้าไปกราบองค์ทะไลลามะ ที่วัดธิเบตที่อยู่ข้างๆวัดศรีลังกา ตอนนั้น (พ.ศ.๒๕๓๐)มีวัดธิเบตเพียงแห่งเดียว  ท่านประทับอยู่ห้องชั้นบนสุด มีลานกว้าง  ท่านทรงแนะนำว่า การประชุมครั้งต่อไปควรจะจัดในประเทศที่ยังไม่มีภิกษุณีสงฆ์ เช่น ศรีลังกาและประเทศไทย

ในวันสุดท้ายของงาน มีผู้เสนอว่า กลุ่มนี้ ควรจะเรียกตัวเองว่า ศากยะธิดา  เป็นที่มาของการใช้ชื่อการประชุมในเวลาต่อมา  แต่ตอนนั้น ยังเป็นการประชุมนานาชาตินักบวชสตรี

ที่เรียกว่านักบวชสตรี ตั้งใจหมายรวมสตรีที่ออกบวชในพุทธศาสนาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภิกษุณี สามเณรี แม่ชี(ไทย)  ดอนชี (พม่า) อนาคาริกา (เนปาล) หรือถิลาชิ่น (พม่า)

การประชุมนานาชาติครั้งนั้น เป็นการเปิดหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์พุทธศาสนา และประวัติศาสตร์ของสตรีชาวพุทธทีเดียว

ท่านอายะเขมา ซึ่งขณะนั้น เป็นเพียงทศศีลมาตา (บวชจากศรีลังกา) อุปสมบทเป็นภิกษุณีที่ลอสแอนเจลิส อเมริกา ในปีรุ่งขึ้น คือ ค.ศ.๑๙๘๘

หลังจากการประชุมครั้งนั้น ทุกคนต่างรอคอยท่านภิกษุณีกรรมะ เล็กเช โสโม  เพราะท่านเป็นผู้ดำเนินการการประชุมครั้งแรก  แต่ท่านประสบอุบัติเหตุแทบเอาชีวิตไม่รอด เมื่อถูกงูพิษกัดที่ต้นแขนขณะที่ท่านออกไปสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างวัดให้สามเณรีชาวธิเบต  ท่านต้องถูกส่งตัวกลับประเทศสหรัฐอเมริกา  และใช้เวลายาวนานหลายปีกว่าจะฟื้นสภาพกลับมาทำงานได้อีกครั้ง

ในช่วงนั้น ทิ้งช่วงมา ๔ ปี  ผู้เขียนเป็นประธานสตรีศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือโอกาศในขณะนั้น จัดงานประชุมนานาชาติสตรีชาวพุทธ  ในปี ค.ศ.๑๙๙๑ (พ.ศ.๒๕๓๔)

แต่มีความขัดแย้งทางความคิด คือ ท่านภิกษุณีกรรมะ เล็กเช โสโม ท่านต้องการให้เป็นการประชุมของนักบวชสตรี  แต่ผู้เขียนเห็นว่า งานของสตรี ถ้าเจาะเฉพาะนักบวชจะไม่มีพลังเพราะเป็นคนกลุ่มน้อย ถ้าพูดถึงสตรีชาวพุทธจะหมายรวมทั้งนักบวชและอุบาสิกา น่าจะส่งผลในความร่วมมือที่ดีกว่า

คณะผู้ร่วมจัดงานมีสามคน เมื่อสองคนมีความเห็นต่างเช่นนี้ ความเห็นของคนที่สามถือเป็นเสียงตัดสิน  ท่านอายะเขมา ตอนนั้น บวชภิกษุณีแล้ว ท่านฟันธงว่า ควรเป็นสตรีชาวพุทธมากกว่า นักบวชสตรีชาวพุทธ

ในการเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์ จึงต้องบอกว่า ในการประชุมนานาชาติครั้งที่ประเทศไทยนั้น จัดภายใต้การประชุมนานาชาติสตรีชาวพุทธครั้งที่ ๑

มีผู้เข้าร่วม จาก ๒๖ ประเทศ ประมาณ ๑๔๐ คน ภิกษุณีจากเกาหลีมาทั้งกลุ่มใหญ่ ๓๐ รูปนำโดยท่านแฮชุนซุก  ซึ่งเป็นประธานภิกษุณีสงฆ์ของเกาหลีในสมัยนั้น  ในวันที่สองของการประชุม  ท่านเรียกผู้เขียนเข้าไปหา มอบอั้งเปาให้ ๒๐๐๐ เหรียญสหรัฐ ช่วยในการจัดงาน

ท่านนี้ ท่านมีความคิดภูมิภาคนิยม ท่านอยากให้สตรีชาวเอเซียมีส่วนในการพิจารณาจัดการงานของสตรี  ท่านไม่เชื่อใจหากเป็นสตรีชาวตะวันตกทั้งหมด

เราใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต อาศัยหอพักของนักศึกษาในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

เราสนับสนุนแม่ชีไทยให้ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ๓๐ ท่าน

การประชุม ๕ วันนั้น จัดวันที่สามเป็นวันที่พาผู้เข้าร่วมประชุมออกไปทัศนศึกษานอกสถานที่ โดยแวะที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี เพื่อถวายอาหารกลางวันแก่ภิกษุณีสงฆ์ และเลี้ยงแขกที่มาร่วมในงาน

รถบัสขนาด ๔๐ ที่นั่งวิ่งตามกันไป ๔ คัน และยังมีรถตู้ที่จัดไว้ดูแลแขกผู้ใหญ่ด้วย

ปีนั้น ท่านภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ภิกษุณีรูปแรกของไทยออกมารับแขกด้วย ได้รูปประทับใจเป็นรูปประวัติศาสตร์ คือ ภิกษุณีอาวุโสของยุคสมัย ได้แก่ท่านภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ (ไทย) ท่านภิกษุณีเฉ่าหยุนฟ่าซือ (ไต้หวัน)  ท่านภิกษุณีอายะเขมา (เยอรมัน)  ท่านภิกษุณีแฮชุนซุก (เกาหลี) นั่งอยู่ด้วยกันที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐม  ทั้งสี่รูป ปัจจุบันมรณภาพหมดแล้ว

ภิกษุณีอายะเขมานั้น มรณภาพ ค.ศ.๑๙๙๗ ในฐานะหนึ่งในสามของผู้จัดงานประชุม ท่านมาร่วมประชุมครั้งสุดท้ายก็ที่ประเทศไทยครั้งนี้

Exposure trip คือการที่ได้พาผู้ร่วมงานออกมาสัมผัสกับความเป็นอยู่ที่แท้จริงของผู้คนในท้องถิ่นนั้น มีอิทธิพลอย่างยิ่ง

หนึ่งในนั้น คือคุณรันชนี เดอ ซิลว่า สตรีชาวพุทธจากศรีลังกา เมื่อได้เห็นกิจกรรมและการต้อนรับที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐม คุณรันชนีเกิดแรงบันดาลใจคิดทันทีว่าตัวเองก็สามารถทำได้ที่ศรีลังกาเหมือนกัน

การประชุมนานาชาติสตรีชาวพุทธที่ศรีลังกาใน ๒ ปีต่อมา คือ ค.ศ.๑๙๙๓ จึงอยู่ภายใต้การจัดการของคุณรันชนี  และเป็นครั้งแรกที่ใช้ชื่อศากยะธิดา  โดยนับ การจัดการประชุมนานาชาตินักบวชสตรีชาวพุทธที่พุทธคยา ค.ศ. ๑๙๘๗ เป็นครั้งที่ ๑ การจัดการประชุมนานาชาติสตรีชาวพุทธที่ม.ธรรมศาสตร์ ประเทศไทย ค.ศ.๑๙๙๑ เป็นครั้งที่สอง และการจัดประชุมนานาชาติที่ศรีลังกา ค.ศ.๑๙๙๓ เป็นครั้งที่สาม และเป็นครั้งแรกที่เริ่มเรียกการประชุมนี้ว่า ศากยะธิดา

ศรีลังกาต่างจากที่อื่นตรงที่ว่า มีศากยะธิดาศรีลังกาด้วย ทั้งหมดในขั้นของการฟอร์มตัวนั้น ต้องขอยกความดีความชอบให้คุณรันชนี เดอ ซิลว่าทั้งสิ้น

คุณรันชนีเดิมเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาก่อนมีความสามารถในการจัดการได้ดี เมื่อทำหนังสือขอจัดงานประชุมนานาชาตินั้น เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาก็ปรามว่า ไม่ให้พูดถึงเรื่องภิกษุณี

ผู้เขียนได้รับเลือกให้เป็นประธานองค์กรศากยะธิดา  ตั้งแต่ตอนที่จัดงานที่เมืองไทย ค.ศ.๑๙๙๑ และได้รับเลือกเป็นวาระที่สอง ที่ศรีลังกา ค.ศ.๑๙๙๓  คุณรันชนีจึงติดต่อพูดคุยกันตลอดในช่วงของการเตรียมงาน

ในช่วงของการประชุม ไม่มีหัวข้อเรื่องภิกษุณีตามที่รับปากกับเจ้าหน้าที่ไว้  แต่เมื่อผู้ที่มาร่วมประชุมจำนวน ๑๐๐ กว่ารูปส่วนใหญ่เป็นภิกษุณีทั้งสิ้น หากท่านจะพูดคุยเรื่องของท่าน เราก็ไม่สามารถจะไปห้ามท่านได้นะ

การประชุมศากยะธิดาที่ศรีลังกาเป็นการจุดประกายอีกหลายเรื่องที่จะตามมาค่ะ อ่านต่ออาทิตย์หน้านะคะ

 
บทความ อื่นๆ ...
«เริ่มแรกย้อนกลับ123ถัดไปสุดท้าย»

JPAGE_CURRENT_OF_TOTAL
ทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม ต. พระประโทน อ.เมืองฯ จ.นครปฐม 73000
โทร. (034)258-270 โทรสาร (034) 284-315 E-mail: [email protected]
Copyright (c) 2002-2006 Thai Bhikkhunis All rights reserved.


จำนวนผู้เข้าชม ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2549