ประวัติพระไภษัชฯ

กดที่รูป เพื่อฟังประวัติพระไภษัชฯ จากยูทูป

 

ประวัติพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตเจ้า

พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่ได้อธิษฐานไว้ว่า หากได้บรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อใด ขอให้พุทธเกษตรของท่านปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

แม้ว่าพระองค์ท่านจะไม่ได้เป็นมนุษิยพุทธเจ้า คือ ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าที่เกิดเป็นมนุษย์ ในคติฝ่ายมหายานอาจจะทำความเข้าใจอีกนัยหนึ่งได้ว่า เป็นปุคลาธิษฐานในพระคุณของพระพุทธเจ้าที่จะเยียวยารักษาเรา อีกทั้งฝ่ายเถรวาทในประเทศไทยเอง ก็มีความคุ้นเคยกันดีกับพระกริ่ง (มาจากบาลีว่า “กิง กุสโส”) ซึ่งนิยมนำมาแช่น้ำแล้วอธิษฐาน ดื่มกินเพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ แท้ที่จริงก็คือพระพุทธเจ้าพระองค์นี้นี่เอง

 

พระปณิธาน ๑๒ ข้อ ของพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตเจ้า โดยย่อ

๑. ขอให้พระกายของข้าฯ มีรัศมีสุกสว่างไปทั่วพิภพ ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายมีรูปกายที่สมบูรณ์เช่นเดียวกับข้าฯ

๒. ขอให้พระกายของข้าฯ บริสุทธิ์และมีรัศมีดุจมณีสีฟ้า ขอให้รัศมีนี้สุกสว่างดุจเดียวกับพระอาทิตย์และพระจันทร์ ส่องหนทางให้แก่ผู้ที่เดินทางอยู่ในความมือด ช่วยให้เขาเดินทางได้สะดวกขึ้น

๓. ด้วยความสามารถอันหาขอบเขตมิได้ของข้าฯ ขอให้ข้าฯ ได้ช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลายให้สามารถแสวงหาสิ่งจำเป็นแก่ชีวิต

๔. ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหาย ได้เข้าสู่มรรควิถีแห่งพุทธภูมิ ขอให้ทุกท่านที่อยู่ในสาวกยาน และปัจเจกพุทธยานได้เข้าถึงการปฏิบัติของมหายาน

๕. ขอให้สรรพสัตว์ได้รับการสนับสนุนให้ได้ปฏิบัติตามศีล ผู้ใดก็ตาม แม้ได้ยินพระนามของข้าฯ แม้รักษาศีลขาดตกบกพร่องไป ก็ขอให้ได้มีความบริสุทธิ์ และได้รับความคุ้มครองมิให้ตกไปสู่วิถีแห่งอบาย

๖. ผู้ที่พิการในรูปแบบใดแบบหนึ่ง แม้ได้ยินพระนามของข้าฯ ขอให้หาย

๗. ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย แม้ได้ยินพระนามของข้าฯ ขอให้หาย

๘. ขอให้ทุกคนได้ข้ามพ้นสังสารวัฏเข้าสู่ประตูนิพพาน ข้าฯ จะขจัดอุปสรรคและความสงสัยทั้งปวง

๙. สรรพสัตว์ที่ติดอยู่ในตาข่ายแห่งมาร หมกมุ่นในมิจฉาทิฏฐิ ขอให้ได้เจริญในสัมมาทิฏฐิ และปฏิบัติตามแนวทางของโพธิสัตต์

๑๐. ขอให้ทุกคนที่ต้องโทษได้พ้นทุกข์

๑๑. ขอให้ทุกคนที่ทุกข์ยากหิวโหย ขอให้มีอาหาร และขอให้เข้าถึงธรรมอันเกษม

๑๒. ขอให้ทุกคนที่ยากไร้ มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม

 

 

เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๗ ขณะยังเป็นฆราวาส หลวงแม่ธัมมนันทาภิกษุณี ได้นิมิตเห็นพระไภษัชยคุรุฯ เป็นพระพุทธรูปหินแกะสลักองค์ใหญ่แบบจีน นั่งอยู่ในหุบเขา ตรงหัวเข่าขวามีประตูทางเข้าให้คนเข้าไปรักษา นิมิตนี้ชัดเจน เมื่อบวชแล้ว หลวงแม่จึงคิดว่านิมิตนั้นน่าจะเป็นโจทย์การบ้านที่พระองค์ให้หลวงแม่ ทำงานในการเยียวยารักษาผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นการสืบสานงานของหลวงย่าด้วยอีกโสตหนึ่ง ลูกหลานของหลวงย่ารุ่นเก่าจะทราบดีว่า หลวงย่าท่านช่วยเหลือเยียวยาคนเจ็บป่วยแบบหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ มาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๙๘

การสร้างพระไภษัชยคุรุฯ ซึ่งเป็นหมอยา จึงเกิดขึ้นเพื่อขอบารมีจากท่านให้ได้ช่วยเหลือสรรพสัตว์ที่ได้ทุกข์ด้วยโรคภัยไข้เจ็บทั้งทางกายและทางใจ ขณะเดียวกัน เป็นการสร้างบารมีสำหรับลูกหลานสายโพธิสัตต์ด้วย

การหล่อพระไภษัชยคุรุฯ เริ่มจากการที่หลวงแม่สเก็ตช์แบบที่เห็นจากในนิมิต แล้วให้ช่างศิลป์ขึ้นรูปองค์พระด้วยหุ่นขี้ผึ้ง ใช้เวลาแก้ไขปรับแต่ง ๑ ปี จึงเททองเป็นพระพุทธรูปทองเหลือง หน้าตักกว้าง ๑๐๘ นิ้ว พระวรกายสีน้ำเงิน จีวรปิดทองคำเปลว งดงาม อัญเชิญมาประดิษฐานในปี ๒๕๔๘  แล้วจึงสร้างพระวิหารคลุมองค์ท่านอีกทีหนึ่ง สถาปนิกที่ออกแบบ คือ ดร.วันชัย มงคลประเสริฐ  ฉลองพระวิหารวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๑ ขณะเดียวกันก็ฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาลหลวงย่าด้วย

พระวิหารได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ กล่าวคือ ใช้จัดงานบรรพชาที่นี่ปีละ ๒ ครั้ง และทุกวันพระเล็ก, ใหญ่ คณะสงฆ์มาสวดมนต์ร่วมกันมิได้ขาด อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมความศรัทธาญาติโยมที่มาชมวัตร เป็นพระไภษัชยคุรุฯ องค์ใหญ่ที่สุดองค์แรกในประเทศไทย

 

 

 
ประวัติพระภิกษุณีธัมมนันทา

 

ประวัติพระภิกษุณีธัมมนันทา

 

 

พระภิกษุณีธัมมนันนา นามเดิม รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ หรือที่ติดปากลูก ๆ และศิษย์ว่า “หลวงแม่”  
ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็นชาวกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด

คุณทวดคือ หลวงเรืองฤทธิ์เดชะ ราชรองเมือง (แหลม)
คุณปู่คือ หลวงพิทักษ์เหลียน สถาน (รื่น ษัฎเสน) ได้รับพระราชทานนามสกุล “ษัฎเสน” ใน พ.ศ. ๒๔๕๘
ทั้งสองท่านเวียนเป็นนายอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดตรัง

บิดา คือ นายก่อเกียรติ ษัฎเสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง ๓ สมัย สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (๒๔๘๙ ๒๕๐๑) หลังจากบิดาวางมือทางการเมือง ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุและมรณภาพภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์

มารดาคือ นางวรมัย กบิลสิงห์ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ อุปสมบทเป็นภิกษุณี ภิกษุณีวรมัย ได้ฉายา มหาโพธิธรรมาจารย์ (คนทั่วไปมักใช้สรรพนามเรียกท่านว่า “หลวงย่า”) ภิกษุณีวรมัยอุทิศตัวรับใช้พระศาสนา และก่อตั้งวัตรทรงธรรมกัลยาณี ด้วยทุนส่วนตัวของครอบครัว เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและเผยแพร่พระธรรมคำสอนให้แก่ลูกผู้หญิงที่สนใจ

นับเป็นการเตรียมหลวงแม่ให้ได้เห็นบทบาทของผู้หญิงบนวิถีพุทธธรรมมาตั้งแต่เยาว์วัย

ในวัยเพียง ๑๑ ขวบ หลวงแม่ต้องช่วยมารดาทำหนังสือ คือหนังสือรายเดือน วิปัสสนาและบันเทิงสาร ถือเป็นการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ ในการเป็นนักเขียนและด้วยพรสวรรค์บวกกับประสบการณ์ที่มี ทำให้ท่านเริ่มงานเขียนตั้งแต่อายุเพียง ๑๙ ปี โดยมีผลงานแปลคือ “ตาที่สาม “ และหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มแรกคือ ปรัชญาจากภาพ (ติดอันดับ ๑ ใน๑๐ หนังสือขายดีของร้านหนังสือดอกหญ้า ปี ๒๕๒๕)
นอกจากนั้นท่านยังเป็นบรรณาธิการให้แก่หนังสือจดหมายข่าวภาษาอังกฤษ
YASODHARA ที่จัดพิมพ์ต่อเนื่องมาถึง ๓๐ ปีแล้ว

เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี หลวงแม่มีโอกาสบวชชี โดยปลงผมและสวมชุดนักบวชสีเหลืองอ่อน ได้รับฉายา “การุณกุมารี”

จากวัยเด็กจวบวัยรุ่นสาว หลวงแม่เติบโตมาในรอบรั้วภิกษุณีอาราม โดยได้รับการหล่อหลอมให้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวโพธิสัตต์ ครอบครัวใหญ่ของชาววัตรทรงธรรมกัลยาณีที่มีหลวงย่าเป็นมารดาแห่งธรรมของคนทั้งวัตร ท่านทำงานเพื่อสังคม รับเลี้ยงดูเด็กกำพร้าและผู้หญิงด้อยโอกาสจำนวนมาก

บริบทชีวิตเช่นนี้ทำให้เด็กหญิงฉัตรสุมาลย์เติบโตมาพร้อมกับแนวคิดของ งานสืบสานพุทธศาสนาบนแนวทางโพธิสัตต์นั้นมิได้เป็นเพียงการสงเคราะห์ชีวิตเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากสภาพความทุกข์ยากอดอยากเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการอบรมธรรมะ พัฒนาจิตใจยกระดับจิตวิญญาณไปสู่การปฏิบัติธรรมด้วย

 

การศึกษา

หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนราชินีบน มารดาได้สนับสนุนให้เดินทางไปศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศอินเดีย ด้วยความสามารถด้านภาษาอังกฤษ บวกกับความเพียรพยายามทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการเรียน โดยจบปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาวิชาเอกปรัชญา วิชาโทประวัติศาสตร์ ในเวลา ๓ ปี อีกทั้งยังได้เรียนภาษาจีน จากท่านผู้ปกครองคือ Prof. Tan Yun Shan ซึ่งเป็นทูตวัฒนธรรมจีนที่ตั้งรกรากอยู่ในอินเดีย

หลังจากกลับมาเมืองไทยฉัตรสุมาลย์ได้ทำงานให้สมาคมไทยอเมริกัน แต่พบว่าตนเองยังสั่งสมวิชาความรู้ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ทำงาน จึงตัดสินใจไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาศาสนาที่มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา ก่อนจะศึกษาปริญญาโท ท่านต้องศึกษาปริญญาตรี สาขาศาสนาปีสุดท้ายไปด้วย โดยท่านได้รับทุนจากรัฐบาลแคนาดา ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาระดับปริญญาโทและเอก ในสาขาศาสนา  และทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบภิกขุนีปาฏิโมกข์ (วินัยของภิกษุณี)”

การเรียนที่แคนาดาได้เปิดโลกทัศน์เรื่องการศึกษาพุทธศาสนาให้แก่ท่านเป็นอย่างมาก เนื่องเพราะท่านได้ค้นพบคำตอบว่า ตัวเราเองเป็นชาวพุทธ เกิดในเมืองพุทธ ทว่ากลับได้เรียนรู้ศึกษาวิชาพุทธศาสตร์จนจบชั้นปริญญาเอกจากประเทศที่ไม่ใช่เมืองพุทธเลย

 

ชีวิตครอบครัว

ท่านได้สมรสกับนาวาอากาศโท พรพจน์ และ มีบุตรชายรวม ๓ คน ชีวิตการแต่งงานและการมีบุตรชายเป็นการเติมเต็มชีวิตวัยเด็กที่อยู่ในสังคมผู้หญิงล้วน

 

ชีวิตการทำงาน

สำหรับชีวิตการทำงาน เริ่มจากพ.ศ. ๒๕๑๓ – ๒๕๑๕ ดร.ฉัตรสุมาลย์ได้เริ่มงานสอนที่มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา

พ.ศ.๒๕๑๖ – ๒๕๔๓  รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ได้เข้าเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งยังเป็นอาจารย์ดูแลวิทยานิพนธ์ทั้งปริญญาโทและปริญญาเอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  และมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ฯลฯ

พ.ศ.๒๕๑๘ – ๒๕๔๔ ดำรงตำแหน่งภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน  สาขาศาสนศาสตร์  และเป็นอนุกรรมการบัญญัติศัพท์ศาสนาสากล ราชบัณฑิตสถาน

พ.ศ.๒๕๒๓ แผนกศาสนา และวัฒนธรรมของรัฐบาลทิเบตได้ส่งจดหมายเชิญให้ รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ ร่วมเป็นกรรมการพิจารณาการบวชภิกษุณีของทิเบต และด้วยความเคลื่อนไหวดังกล่าว เปรียบได้กับ "ปรากฎการณ์ผีเสื้อขยับปีก" โดยเฉพาการประชุมที่ธรรมศาลาครั้งนั้นทำให้องค์ทาไลลามะ องค์พระประมุขของทิเบตทรงพิจารณาเปิดโอกาสให้ผู้หญิงทิเบตมีทางเลือกบนเส้นทางของนักบวชหญิงมากขึ้น

พ.ศ.๒๕๒๖ ท่านได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด   ให้ไปบรรยายเรื่อง  "อนาคตของภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย" จากการประชุมครั้งนั้นเอง  ทำให้ท่านเกิดสำนึกได้ว่า  หากท่านไม่ลงมือเคลื่อนไหวหรือกระทำสิ่งใด  ความรู้ในเรื่องภิกษุณีสงฆ์ที่ท่านมีจะไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือการเปลี่ยนแปลงในหลักคิดได้

หลังการสัมมนาที่ฮาร์วาร์ดครั้งนั้น ส่งผลให้ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ออกจดหมายข่าวชื่อ NIBWA (News-letter on International Buddhist Women’s Activities)  เพี่อเป็นสื่อกลางในการติดต่อกับสตรีชาวพุทธ  ทั่วทุกมุมโลก มีสมาชิกครั้งแรก ๓๗ คนและขยายตัวอย่างรวดเร็วจนเกิดเป็นเครือข่ายผู้หญิง ที่จัดการประชุมระดับโลกหลายครั้งหลายครา โดยดร.ฉัตรสุมาลย์ ได้รับเชิญให้ไปบรรยายในเรื่องพุทธศาสนามากขึ้น จนในที่สุดก็เริ่มโยงเข้าสู่ประเด็นบทบาทของสตรีในพุทธศาสนาเข้ามาเป็นหัวข้อสำคัญในการสัมมนา

พ.ศ.๒๕๓๑ ท่านจึงได้ร่วมก่อตั้งองค์กรศากยธิดานานาชาติ International Buddhist  Women Association และได้รับเลือกเป็นประธานองค์กร ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๔ – ๒๕๓๘ พร้อมกันนั้นนั้นท่านยังเป็นบรรณาธิการให้แก่หนังสือจดหมายข่าวพุทธศาสนาภาคภาษาอังกฤษ YASODHARA ที่จัดพิมพ์ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และเมื่อเครือข่ายของผู้หญิง เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มพลังที่เข้มแข็งมากขึ้น จึงได้ร่วมกันก่อตั้งชมรมสตรีชาวพุทธนานาชาติชื่อว่า สมาคมศากยธิดา ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๓๒  ซึ่งทางวัตรทรงธรรมกัลยาณีเองก็ได้เริ่มต้น จัด “การอบรมพุทธสาวิกา” เพื่อกระตุ้นให้สตรีไทยได้ตื่นตัวในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

พ.ศ. ๒๕๓๔ ท่านได้รับเลือกเป็นผู้จัดการประชุมทางวิชาการนานาชาติเรื่องสตรีชาวพุทธ

พ.ศ.๒๕๓๔ ๒๕๔๓  ท่านเข้าสอนโครงการวัฒนธรรม โรงแรมโอเรียนเต็ล

พ.ศ.๒๕๓๗ ๒๕๓๘  ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานโครงการสตรีศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พ.ศ.๒๕๓๙ - ๒๕๔๓  เป็นประธานศูนย์อินเดียศึกษา และเป็นกรรมการโครงการจีนศึกษา   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์     

พ.ศ.๒๕๓๙ -  ท่านเริ่มก่อตั้งโครงการบ้านศานติ์รักษ์ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและสตรีมีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

พ.ศ. ๒๕๔๒  - ท่านได้ก่อตั้งก่อตั้งมูลนิธิ พุทธสาวิกา

นอกจากผลงานดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ด้วยพรสวรรค์ในด้านงานเขียน ท่านยังได้เขียนบทความในสื่อหลากหลายประเภท  อาทิเช่นคอลัมน์ “ธรรมลีลา” ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ คมชัดลึก ไม่นับรวมผลงานหนังสือและงานแปลอีกกว่า ๑๐๐ เล่ม โดยหนังสือที่ท่านเขียนขึ้นนี้ สะท้อนวิญญาณความเป็นนักอ่านและนักเขียนของท่านได้เป็นอย่างดี ทั้งการบอกเล่าเรื่องราวในเชิงวิชาการ การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ การอ่านหนังสือและเดินทางไปทั่วโลก สาระที่ถ่ายทอดออกมาในสื่อรูปแบบต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น ล้วนเป็นธรรมะที่ย่อยและกลั่นกรองจากมุมมองของนักอ่าน นักเขียน นักประวัติศาสตร์  นักสตรีนิยม  นักสิ่งแวดล้อม และนักปฏิบัติ ผลงานของท่านจึงมีความลุ่มลึกในสำนวนภาษาและวิธีถ่ายทอด สามารถสร้างศรัทธาและสาระให้แก่นักอ่านจำนวนมาก

นอกจากความสำเร็จในฐานะนักวิชาการและนักเขียน ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติแล้ว รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ยังได้รับเชิญให้เป็นพิธีกรในรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับศาสนา ชื่อรายการ ชีวิตไม่สิ้นหวัง ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ ทางช่อง โดยรายการดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องถึง ปี และยังได้รับรางวัลรายการธรรมะยอดเยี่ยมถึง ๒ ปีซ้อน (พ.ศ. ๒๕๔๓ และ พ.ศ. ๒๕๔๔)

 

เกียรติประวัติ

พ.ศ.๒๕๔๕ ๒๕๔๙ ท่านเป็นหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกผู้รับรางวัลนิวาโน สันติภาพ ประเทศญี่ปุ่น

พ.ศ.๒๕๔๗  ท่านได้รับเลือกเป็นสตรีชาวพุทธดีเด่นขององค์การสหประชาชาติ (UN Outstanding Buddhist  Women Award)

พ.ศ.๒๕๔๘  ท่านเป็นหนึ่งใน  ๑,๐๐๐ สตรีเพื่อสันติภาพที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบล  สาขาสันติภาพ

พ.ศ.๒๕๔๙  ได้รับรางวัล Prestige Woman  ในฐานะนักการศึกษา และ Bangkok Post ได้คัดเลือกท่านเป็น ๑ ใน ๕๐  ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในโอกาสหนังสือพิมพ์ฉลองครบรอบ ๕๐ ปี และท่านยังได้รับการคัดเลือกเป็น ๑ ใน ๓๐ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในโอกาสหนังสือพิมพ์ The Nation ฉลองครบรอบ ๓๐ ปี ซ้ำในปีเดียวกันอีกด้วย

พ.ศ.๒๕๕๒ ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลเกียรติยศประจำปีจาก มูลนิธิโกมล คีมทอง

พ.ศ.๒๕๕๓ ได้รับรางวัล ๑ ใน ๒๐ สตรีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากโรงแรมสุโขทัยและนิตยสาร Thailand Tatler

พ.ศ. ๒๕๕๕ ท่านได้รับรางวัลนักแปลดีเด่น

พ.ศ. ๒๕๕๕  ท่านได้รับรางวัล Sakyamuni Buddha International Award 2012 จากประเทศอินเดีย

 

การสืบสาน : เส้นทางภิกษุณี

แม้จะประสบความสำเร็จทั้งในฐานะนักวิชาการ นักกิจกรรม ทั้งการงาน ชื่อเสียง และอาชีพ แต่ทว่าในห้วงเวลาดังกล่าว รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์กล่าวว่าตนเองยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ว่าความหมายของชีวิตคืออะไร

“ ในช่วงแรกอาตมาพยายามต้านกระแสการเรียกร้องให้บวช แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งของชีวิตก็พบว่า แม้ชีวิตอาตมาเดินทางมาถึงความสำเร็จตามประสาที่ชาวโลกแสวงหากันตามวิสัยปุถุชน แต่ก็ยังไม่ค้นพบสาระที่แท้จริงของชีวิต ขณะเดียวกันอาตมาก็เกิดความเบื่อหน่ายชีวิตทางโลกที่ต้องแต่งหน้าทาปากออกไปทำมาหากินเลี้ยงชีพทุกวัน อาตมาจึงตัดสินใจออกบวชออกบวช เพื่อถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา”

 

 

ในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ.๒๕๔๔ รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์จึงตัดสินใจเข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรีจากคณะภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์สายสยามวงศ์จากวัดตโปทานรามยะ ประเทศศรีลังกา โดยได้รับฉายาว่า ธัมมนันทาและอุปสมบทเป็นภิกษุณี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖ ที่ประเทศศรีลังกา นับเป็นภิกษุณีเถรวาทสายสยามวงศ์รูปแรกในประเทศไทย และเมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านจึงได้นิมนต์ปวัตตินี (ภิกษุณีอุปัชฌาย์) มาอบรมสั่งสอนติดต่อกัน ๒ พรรษา ตามเงื่อนไขในพระวินัยอีกด้วย

 

 

หลวงแม่ธัมนันทา จึงนับได้ว่าเป็นปฐมภิกษุณีสายเถรวาทรูปแรก  และ เป็นผู้วางอิฐก้อนแรกสำหรับสตรีไทยที่จะได้มีโอกาสก้าวย่างออกมาสู่ชีวิตภิกษุณี

ภายหลังที่ท่านออกบวชแล้ว หลวงแม่ธัมมนันทายังคงเป็นบรรณาธิการจดหมายข่าวสตรีชาวพุทธนานาชาติ มีสมาชิกใน ๓๘ ประเทศทั่วโลก เพื่อรับทราบความเคลื่อนไหวของภิกษุณีในต่างประเทศมากว่า ๓๐ ปี และด้วยประสบการณ์ดังกล่าวยิ่งสร้างสมให้ท่านเกิดความมั่นใจมากขึ้นในการรื้อฟื้นภิกษุณีว่า "เป็นเรื่องที่ถูกต้องในพระธรรมและวินัย"

“เพราะพระภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล โดยพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้อนุญาตให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี ภิกษุณีสงฆ์จึงเป็นองค์ประกอบของพุทธบริษัทสี่ ที่พระพุทธองค์ประดิษฐานไว้ ด้วยพระพุทธองค์ทรงยืนยันว่าผู้หญิงสามารถบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกับผู้ชาย ท่านมักกล่าวเสมอว่าเป็นความจริงที่ว่าคฤหัสถ์ทั้งชายและหญิง  สามารถปฏิบัติจนถึงซึ่งความหลุดพ้นได้เช่นเดียวกัน  หากแต่ชีวิตการบวชนั้นเป็นชีวิตที่ประเสริฐ เพราะเป็นทางลัดตัดตรง ช่วยให้ผู้บวชได้ละวางความยึดติดทางโลกให้น้อยลง  เพราะวิถีการบวชเป็นการทำให้ชีวิตเรียบง่ายขึ้นเอื้อประโยชน์ในการปฏิบัติได้ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้อาตมาจึงตัดสินใจออกบวชเพราะต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนา เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่พระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาตมาบวชด้วยความศรัทธาจากหัวใจ  พร้อมปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่นและตั้งอกตั้งใจอย่างดีที่สุด ด้วยความกตัญญูต่อพระพุทธเจ้า เพราะอาตมาได้ศึกษาแล้วว่าภิกษุสงฆ์นั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ให้แก่ลูกผู้หญิงและพระศาสนา ซึ่งพระองค์ทรงมอบหมายให้พุทธบริษัทสี่ช่วยกันดูแลและสืบสานพระพุทธศาสนาร่วมกัน”

 

 

ตราบจนถึงวันนี้ (๒๕๖๐)เป็นเวลากว่า ๑๖ ปีแล้วที่รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ตัดสินใจสละเพศฆราวาส ครองวิถีนักบวชอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ นับแต่วันที่ตัดสินใจถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา พระภิกษุณีธัมมนันทาไม่เพียงค้นพบเส้นทางลัดที่นำพาชีวิตไปสู่ความดับทุกข์เฉพาะตนเท่านั้น ท่านยังได้ใช้วิชาความรู้ทางพุทธศาสนาเพื่อยังประโยชน์แก่ญาติโยม โดยการนำประสบการณ์การเผยแพร่พุทธศาสนาจากนานาชาติมาสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นอย่างมหาศาลทั้งสำหรับผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก ด้วยหัวใจแห่งโพธิสัตต์ และแนวทางโพธิสัตต์ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณียึดถือปฏิบัติมานานกว่า ๕๐ ปี อันเป็นอุดมการณ์ของพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Socially Engaged Buddhism) โดยแท้ ซึ่งด้วยหลักการคิดและแบบแผนในวิถีโพธิสัตต์นี้ ย่อมเกื้อกูลสังคมที่มิใช่เพียงความปรารถนาที่จะพากเพียรไปถึงพระนิพพานแต่เพียงเฉพาะตนเท่านั้น หากแต่ยังปรารถนาเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดด้วย

ด้วยเจตนาเช่นนี้ หลวงแม่ธัมมนันทา จึงกล้าหาญที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยจัดให้มีการบรรพชาหมู่สามเณรีภาคฤดูร้อน ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ.วัตรทรงธรรมกัลยาณี ในจังหวัดนครปฐมที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส และจากการบรรพชาในครั้งนั้น (พ.ศ.๒๕๕๒) จนปัจจุบัน ท่านได้เป็นอุปัชฌาย์ให้การบรรพชาสามเณรีทั้งที่ จ.นครปฐม จ.พะเยา จ.สงขลา และ จ.สุราษฏร์ธานี ได้มีผู้หญิงกว่า ๗๐๐ ชีวิตได้ตัดสินใจร่วมเดินตามรอยของการประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อร่วมเติมเต็มพุทธบริษัท ๔ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และในพ.ศ. ๒๕๕๖ ท่านได้ริเริ่ม "เครือข่ายภิกษุณีสงฆ์ไทย" ขึ้น เพื่อความเป็นกลุ่มก้อนของภิกษุณีไทยที่กระจายอยู่ใน ๒๐ จังหวัด ให้มีทิศทางการปฏิบัติชัดเจนในพระธรรมวินัย เพื่อสืบทอดพุทธศาสนาตามพุทธดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง

 
ประวัติพระมหาโพธิธรรมาจารย์ วงศ์ศากยะ

 

ภิกษุณีโพธิสัตต์ วรมัย กบิลสิงห์ มหาเถรี

 

พระภิกษุณี วรมัย กบิลสิงห์ มหาเถรีฯ หรือที่เรียกติดปากลูกศิษย์ว่า “หลวงย่า” เกิดที่ตำบลหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มารดาชื่อ ส้มจีน เป็นคนไทยเชื้อสายเวียงจันท์ ท่านเป็นลูกคนสุดท้อง (คนที่ ๖) เกิดเวลาพระบิณฑบาตกลับของวันจันทร์ที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๑ ปีวอก

เดิมมารดาตั้งชื่อให้ว่า “วงจันทร์” เพราะเกิดวันจันทร์แต่เมื่อโตขึ้นท่านไม่ชอบ เพราะใบหน้าของท่านยาว แต่วงจันทร์นั้นชื่อบอกลักษณะกลม จึงเปลี่ยนเป็น “รมัย” พอมาสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม มีการเปลี่ยนชื่อให้สมสมัย ท่านต้องการรักษาอักษรแรกจากชื่อเดิมของสามี (เวื่อง) เป็นชื่อซึ่งคุณทวดหลวงเรืองฤทธิ์เดชะราชรองเมือง ตั้งให้ จึงเอา “ว” มาใส่ข้างหน้าชื่อของตนเป็น “วรมัย” นับแต่นั้นมา

มารดาของท่านหรือคุณแม่ส้มจีน เป็นม่ายสามีตายแต่ยังสาววัย ๓๖ ปี ได้พาลูกๆ ซึ่งเป็นลูกสาวทั้ง ๕ คน หลวงย่าเป็นคนสุดท้องขณะนั้นอายุ ๘ ขวบ ไปเช่าบ้านอยู่แถวคลองหลอด ต่อมาไปอยู่บ้านพี่สาวที่บางรัก เรียนหนังสือที่ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ใกล้บ้าน ท่านมีความขยันหมั่นเพียรดีเด่น

เรื่องการศึกษาท่านต้องช่วยเหลือตัวเองมาก ต้องปากกัดตีนถีบ และได้มีโอกาสเดินทางไปปีนังโดยความอนุเคราะห์ของครอบครัวของเพื่อน และศึกษาอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อกลับมาประเทศไทยได้เข้าเรียนพลศึกษาในเวลาเย็นหลังเวลาทำงาน เรียนมวยไทย มวยฝรั่ง ยูโด ดาบฝรั่ง ท่านทำคะแนนได้ดีเยี่ยมในวิชาดาบฝรั่ง เนื่องจากท่านรูปร่างสูงโปร่ง เวลาวางท่าการ์ดดาบฝรั่งจึงงามสง่า วิชายูโด ท่านเอามาสอนลูกๆเป็นท่าไม้ตายสำหรับเวลาในภาวะคับขันจวนตัว ลูกๆ จะเป็นยูโดท่าไม้ตายทุกคน สำหรับมวย ก็ถึงกับมีค่ายมวยขนาดย่อมที่บ้านพักซอยร่วมจิต ถนนนครชัยศรี ท่านสอบได้ประโยคครูผู้สอนพละศึกษาโท คะแนนดีมากติด ๑ใน ๓ คนแรก นับว่าเป็นครูพละศึกษาผู้หญิงคนแรกของประเทศไทย มีหนังสือพิมพ์ ๒-๓ ฉบับขอสัมภาษณ์และขอถ่ายรูปด้วย


 

บุคลิก – ลักษณะ

หลวงย่าเป็นคนรูปร่างสูงโปร่ง ผิวขาวใบหน้ายาว จมูกแข็งแรง โหนกแก้มสูง ตาโต ใบหูใหญ่รับกับใบหน้า เมื่ออายุท่านมากขึ้น ติ่งหูดูยิ่งยาวพลิ้วนิ่มนวลขณะหันซ้ายขวา ยิ่งเห็นชัดเวลาท่านออกไปทำบุญโปรดวิญญาณตามต่างจังหวัดและเมื่ออยู่ในที่สว่างโล่ง ดูเป็นบุคคลพิเศษที่น่าทึ่งและน่าอัศจรรย์ แต่ริมฝีปากนั้นยิ้มยาก เวลายิ้มมุมปากจะยกสันโหนกแก้มขึ้นสูง แต่ไม่เห็นฟันบน

 

อุปนิสัย

ท่านมีความเข้มแข็งหาคนเทียมได้ยาก คิดจะทำอะไรแล้วไม่ว่าเหนื่อยยากเพียงใด ก็จะทำจนเสร็จเสมอ ทำอะไรว่องไว คิดแล้วทำเลย กับลูกๆท่านจะดุมาก ใครทำอะไรไม่ถูกต้องจะถูกดุเสมอ เป็นคนเจ้าระเบียบ เวลารับประทานอาหารด้วยมือจะสอนลูกๆไม่ให้อาหารเปื้อนนิ้วเกินหนึ่งองคุลี ผลไม้ต้องปอก คว้านเมล็ด แกะสลักอย่างฝีมือดีและเรียบร้อยลูกผู้หญิงต้องจัดดอกไม้เป็น ถ้านุ่งผ้าถุงจะย้วยหน้าย้วยหลังไม่ได้ เวลานั่งสวดมนต์ให้ดูแถว ตั้งแถวให้เป็นระเบียบ เวลาพาไปกราบพระผู้ใหญ่ ถ้าหัวแถวนั่งพับขาไปทางขวา ลูกแถวต้องพับขาไปทางเดียวกัน

การฝีมือที่ท่านสอนนั้น ลายปักทึบด้านหน้าด้านหลังต้องเหมือนกันจะไม่มีเศษด้ายรุงรัง ปลายด้ายจะเก็บซ่อนหมด  ท่านเป็นคนมัธยัสถ์ ขยันไม่เคยอยู่นิ่ง ตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาส เริ่มสร้างโรงเรียนแม่ชีไทย ท่านสอนว่าอาหารมีกับข้าวมื้อละ ๒ อย่างก็พอ สมัยก่อตั้งวัด ลูกในวัดจะทำงานทุกอย่างเอง ตั้งแต่ปลูกผัก ขนดินสร้างอาคาร

ท่านจะใช้เวลาทำสมาธิตอนกลางคืน บางทีตื่นขึ้นมาตี ๒-๓ เพื่อทำสมาธิรักษาไข้ช่วยเหลือคนเจ็บ พอสว่างท่านก็จะทำงานบริหารภายในวัด โดยแบ่งเวลาเช้าจรดเพลเป็นเวลาเขียนหนังสือ แต่ท่านจะมีแขกมาหาตลอดเวลา นานๆ จึงจะเห็นท่านได้เอนหลัง และตอนเย็นท่านจะตรวจงานภายในวัตร

จะเห็นว่าความรู้ที่ท่านได้รับและให้ ต่างกันอย่างมาก คือ จากการเป็นนักพละ เป็นแม่บ้านแม่เรือนสอนวิชาเย็บปักถักร้อย ร้อยมาลัย แกะสลัก คว้านเมล็ดผลไม้ สานกระเป๋าหวาย ถักนิตติ้งที่ต้องงดงาม มือเบาและเป็นผู้ดี ดูเหมือนว่าขัดแย้ง แต่ก็ลงตัวสมบูรณ์ในตัวท่าน และความที่มีจิตวิญญาณของครู ท่านจึงได้ถ่ายทอดให้ลูกๆที่เคยอยู่กับท่าน ลูกๆก็รับได้บ้าง ไม่ได้บ้างมากบ้างน้อยบ้างตามภูมิของแต่ละบุคคล เหมือนฝนที่ตกมาเท่าๆกัน แต่ต้นหญ้าก็เติบโตเป็นได้เพียงต้นหญ้า ในขณะที่ต้นสักก็เติบโตเป็นต้นสัก

 

ชีวิตการทำงาน

เมื่อกลับจากปีนังท่านสอบเทียบครู พ.ป.(พิเศษประโยคประถม) และ พ.ม.(พิเศษประโยคมัธยม) โรงเรียนแรกที่ท่านเข้าสอน ในตำแหน่งครูใหญ่ คือโรงเรียนมหัสดัม โรงเรียนของชาวมุสลิมแถวบางรัก และเป็นครูพิเศษให้กับ โรงเรียนเบญจมราชาลัย กรุงเทพฯ สอนวิชาพละศึกษา

เมื่อแต่งงานกับนาย ก่อเกียรติ (เวื่อง) ษัฎเสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง ท่านได้สอบและขอย้ายไปประจำโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดตรัง สอนวิชาพละศึกษา และภาษาไทย ระดับม.๕-๖

 

ไปสิงคโปร์โดยจักรยาน

พ.ศ.๒๔๗๕ ท่านเดินทางไกลโดยจักรยาน ไปกับคณะลูกเสือสวนกุหลาบ โดยมีอาจารย์นำไป ใช้เวลาเดินทางทั้งหมด ๒๙ วัน โดยแต่ละวันมีที่หมายปลายทางสำหรับพักแรม ต่างคน ค้างไปจะพบกันก็เป็นตอนค่ำตามจุดที่นัดหมาย ระหว่างทางที่ท่านเดินทางเพียงลำพัง ต้องเผชิญกับเสือในป่า อาบน้ำในหนองน้ำที่มีจระเข้ หรือไปขอนอนกับชาวบ้านในป่า ท่านภาคภูมิในประสบความสำเร็จ ที่เข้าไปในเขตมาลายูได้ก่อนคนอื่นๆ นายอำเภอสะเดา ขุนอารียราชการันย์มอบปากกาอย่างดีให้เป็นรางวัลแก่ น.ส. รมัย กบิลสิงห์  เมื่อวันที่ ๑๖ เม.ย.๒๔๗๕

ท่านต้องการสอนแบบอย่างให้นักเรียนเห็นว่า ในการทำงานนั้นหากมีความตั้งใจมั่น หญิงและชายสามารถทัดเทียมเหมือนกัน

 

ชีวิตการแต่งงาน

น.ส. รมัย กับนาย ก่อเกียรติ ษัฎเสน อายุเท่ากัน พบกันสมัยที่เรียนพลศึกษา แต่ น.ส. รมัย เป็นนักเรียนรุ่นพี่ ท่านก่อเกียรติเทิดทูนและผูกสมัครรักท่านอยู่ถึง ๘ปี แต่ท่านไม่เล่นด้วยเพราะท่านก่อเกียรติเป็นคนมีฐานะ แต่ น.ส. รมัย ส่งเสียตัวเองตั้งแต่เล็ก รู้คุณค่าของเงินทุกบาททุกสตางค์และต้องดูแลเรื่องการเงินอย่างรอบคอบ

เนื่องจากท่านเป็นนักพละหญิงคนแรก จึงได้รับเชิญไปแสดงยูโดในจังหวัดต่างๆ ครั้งนั้นเบาะที่ปูพื้นไม่เรียบร้อย ท่านสะดุดเบาะล้ม เส้นโลหิตที่เข้าสู่ปอดขาด ท่านเจ็บแทบขาดใจแต่แข็งใจลุกขึ้นมาคำนับตามท่าของพละ และฉากปิดลงด้วยดี แต่ท่านต้องเข้าโรงพยาบาล เลือดออกเป็นกระโถน ใครๆนึกว่าท่าน  เป็นวัณโรค ไม่กล้ามาเยี่ยม  บุคคลที่ไปมาหาสู่คือท่านก่อเกียรติ ษัฎเสน รุ่นน้องพละ ขณะนั้นญี่ปุ่นกำลังชนะสงครามรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะผลิตประชากรสายพันธุ์ใหม่ ที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยการขอสาวไทยที่มีการศึกษาดีจำนวน ๒,๐๐๐ คน ให้แต่งงานกับทหารญี่ปุ่นที่เข้มแข็ง อดทน ช่วงนี้เองท่านอยู่ในข่ายสาวไทยที่ว่านี้ อาจารย์ใหญ่เรียกท่านไปพบเพื่อแจ้งข่าว ถามท่านว่ามีใครที่สมัครรักใคร่อยู่แล้วหรือไม่ท่านจึงรีบตอบรับว่ามีความมั่นหมายอยู่กับท่าน ก่อเกียรติแล้ว ท่านทั้งสองจึงแต่งงานกันในเดือน เม.ย.พ.ศ.๒๔๘๕ ที่วังเจ้านายโดยมีคุณหลวงศุภชลาศัยเป็นประธาน

ปลาย พ.ศ.๒๔๘๗ เป็นภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านตั้งท้องและคลอดบุตรี ชื่อ ฉัตรสุมาลย์

ท่านจึงลาออกจากราชการ กลับไปจังหวัดตรัง (บ้านเกิดของท่านก่อเกียรติ)เปิดร้านขายหนังสือ ชื่อ “ทศพร” และ ค้าขายเครื่องประดับ เพชรนิลจินดา

พ.ศ.๒๔๙๐ ท่านอยากให้ลูกๆมีการศึกษาดี จึงอพยพเข้ากรุงเทพ ท่านสนใจงานประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่วัยเด็ก เรื่องที่เขียนและส่งไปโรงพิมพ์ ได้คัดเลือกตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อท่านมีอายุ ๑๗ ปี ท่านจึงเขียนหนังสือมาตลอดชีวิต มาเลิกเขียนใน พ.ศ.๒๕๓๔ เมื่ออายุได้ ๘๔ ปี

ขณะที่ท่านก่อเกียรติเป็นนักการเมืองอยู่ในรัฐสภา นางวรมัย ทำหน้ามี่เป็นนักข่าวเขียนข่าวการเมือง ในตำแหน่งรองบรรณาธิการหนังสือ  “ไทยใหม่วันจันทร์”รายสัปดาห์ นวนิยายเรื่องเจ้าหญิงพลาเลิศ หนังสือแนวเฟมินิสต์ หนังสือ เพชรนิลจินดา ตำรานวรัตน์ ที่แนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักวิธีดูเพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม ฯลฯ นับว่าเป็นตำราอัญมณีเล่มแรกของประเทศไทย ที่ได้รับความนิยมสูงในสมัยนั้น หนังสือท่องเที่ยวผจญภัยก็ได้เกิดขึ้นในบรรณภพในช่วงนี้เอง

 

การหักเหของชีวิต

พ.ศ. ๒๔๙๗ เมื่ออายุท่านได้ ๔๒ ปี ท่านเจ็บหนักในช่องท้อง นายแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตรวจพบว่าท่านมีเนื้องอกในมดลูก ต้องเตรียมตัวเพื่อผ่าตัด แม่ชีทองสุก จากวัดปากน้ำภาษีเจริญมาเยี่ยม ท่านได้ฝากเงินทำบุญไป วันรุ่งขึ้น แม่ชีกลับมาบอกว่าหลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ รักษาให้แล้วไม่ต้องผ่า แต่หลวงย่าท่านเป็นคนสมัยใหม่ เวลาคุณหมอตรวจท่านสัมผัสกับเนื้องอกนั้นได้เอง ครั้นวันรุ่งขึ้นท่านตัดสินใจรับการผ่าตัดจริงๆ ก็ยังความประหลาดใจให้แก่คณะแพทย์และพยาบาลเพราะไม่พบก้อนเนื้องอก เท่ากับผ่าฟรี เมื่อท่านฟื้นขึ้นมาและทราบผลการผ่าตัด ท่านจึงตั้งใจมั่นว่า จะต้องค้นหาด้วยตัวเองว่าการทำสมาธิรักษาไข้นั้นได้ผลจริงอย่างไร

เดือน ก.พ. พ.ศ. ๒๔๙๗ พอท่านแข็งแรงดีแล้ว จึงเดินทางไปเรียนกับหลวงพ่อสดโดยตรง เรียนอยู่ ๒๔ วัน ได้พระธรรมกายอรหันต์ เมื่อเวลา ๑๒.๓๐ น. วันจันทร์ ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๙๗ แล้วตามทบทวน ๒ ครั้ง พระธรรมกายที่ท่านได้นั้น ไม่ใช่เกศดอกบัวตูมอย่างหลวงพ่อสดสอน แต่เป็นแบบจีน พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระเกศมีเส้นพระเจ้า จอมกระหม่อมสูงแบบจีน พระเนตรอ่อนโยนมีแววเมตตา พระโอษฐ์แย้มยิ้มอำนวยพร อ่อนโยนเหมือนมีชีวิตจิตใจ ไม่เหมือนพระพุทธรูปหล่อทั่วไปทั้งหมด ขนาดเท่าองค์พระประธานในโบสถ์ หน้าตักกว้าง ๓ วาเศษ ทรงสมบูรณ์และแข็งแรง แต่เป็นแบบจีน สว่างไปทั่วห้อง เรียนให้หลวงพ่อสดทราบท่านก็รับรอง

ท่านต่อวิชชาครูธรรมกาย การรักษาไข้ ตลอดจนการแก้อุบัติเหตุต่างๆ อีก ๕ เดือน อาจารย์จึงได้ทำพิธีเชิญพรหม และมอบสัตตรัตนะ ๗ ประการ พร้อมกับตั้งให้เป็นอาจารย์สอนตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๕ ก.ย. พ.ศ.๒๔๙๗

วันที่ ๑ ต.ค. พ.ศ.๒๔๙๘ เริ่มออกนิตยสารรายเดือนเพื่อเผยแพร่พระศาสนาและการปฏิบัติธรรม ชื่อ “วิปัสสนาและบันเทิงสาร” ต่อมาได้เปลี่ยนเพิ่มชื่อเป็น “พระโพธิสัตต์ วิปัสสนา และ บันเทิงสาร”

พ.ศ. ๒๔๙๘ ท่านไปเรียนรูปนาม จากวัดมหาธาตุ จ.พระนคร ภายใน ๒๘ วัน พระครูปลัดถ้วนเป็นผู้สอบอารมณ์ ได้เข้าฟังเทศน์ลำดับญาณ อันเป็นการรับว่าเรียนจบ

พ.ศ.๒๕๐๐ ท่านเรียนอานาปานสติ กับท่านเจ้าคุณวิสุทธิธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ (ท่านพ่อลี) แห่งวัดอโศการาม

ในช่วงนี้ ท่านรู้จักหลวงพ่อหลวงปู่หลายๆ องค์ การศึกษาพระพุทธศาสนาของท่านก็เริ่มเข้มข้นขึ้น เมื่อได้อ่านพระไตรปิฎก ศึกษาเรื่องของภิกษุณีในสมัยพุทธกาล และพุทธานุญาตให้ผู้หญิงออกบวช ท่านจึงอุทิศตนรับใช้พระศาสนาด้วยกรออกบวช เมื่อวันที่ ๒ พ.ค. พ.ศ.๒๔๙๙ โดยมีท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) รองเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อท่านขอถือศีลพรรพชา ท่านใส่ชุดขาวแต่ได้นำชุดเหลืองอ่อน ที่เรียกว่าสีดอกบวบ ให้อุปัชฌาย์ดู และได้เรียนท่านว่าจะใส่สีนี้ พระอุปปัชฌาย์ก็ไม่ได้ว่าอะไร

 



 

ความเป็นมาของวัตรทรงธรรมกัลยาณี

 

สร้างวัตรผู้หญิง สร้างโรงเรียน และการอุปสมบทเป็นภิกษุณีรูปแรก

 

พ.ศ.๒๕๐๑ หลวงย่าวรมัย เริ่มสร้าง วัตรทรงธรรมกัลยาณี ที่ จ.นครปฐม โดยซื้อที่ดิน ๖ ไร่  จากพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ดิศจี พระราชินีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)  และให้นามว่า วัตรทรงธรรมกัลยาณี

วัตร แปลว่า การปฏิบัติ

วัตรทรงธรรมกัลยาณี แปลว่า การปฏิบัติของสตรีผู้ทรงธรรม

หลวงย่าลงมือสร้างพระอุโบสถโดยใช้ชื่อว่า “พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ศรีอุโบสถาคาร”

ล่วงมาปี พ.ศ.๒๕๑๔ อ.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ (บุตรี) กลับจากแคนาดา จึงได้ติดต่อให้ท่านไปรับการอุปสมบทอย่างถูกต้องที่วัดซุงซาน  ในเมืองไทเป  โดยมีพระอาจารย์ เต้าอัน  เป็นพระอุปัชฌาย์และได้ฉายาทางธรรมว่า “สือต้าเต้าฝ่าซือ”

สือ มาจากตัวย่อของ “ศากยะ” ผู้ที่บวชจะนับว่าเป็นศากยะวงศ์ทั้งสิ้น

ต้าเต้า แปลว่า มหาโพธิ

ฝ่าซือ คือ ธรรมาจารย์

คุณธีรทาสเป็นผู้เทียบฉายาเป็นภาษาไทยให้ ท่านจึงได้ฉายาว่า “พระมหาโพธิธรรมาจารย์ วงศ์ศากยะภิกษุณีโพธิสัตต์” นับเป็นภิกษุณีรูปแรกที่อุปสมบทอย่างถูกต้อง

เมื่อสร้างวัตรทรงธรรมกัลยาณีแล้ว ท่านมุ่งมั่นงานสังคมสงเคราะห์ เปิดโรงเรียนสอนลูกกำพร้าและให้การศึกษาอย่าง

เป็นระบบ จนก่อตั้งโรงเรียนราษฎร์ขึ้น ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนธรรมาภิสมัย” สอนอนุบาลจนถึง ป.๖ นานติดต่อกันนานถึง ๔๐ ปี

นอกจากนี้ นิตยสาร “พระโพธิสัตต์ วิปัสสนา และบันเทิงสาร” ที่เผยแพร่สาระธรรมรายเดือน ที่เด่นดัง ท่านก็ยังคงดำเนินกิจการต่อมาอีก ๓๒ ปี ถึง พ.ศ.๒๕๓๐

กล่าวได้ว่า หลวงย่าท่านจะเป็นศูนย์รวมการทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ ทั้งการแจกเสื้อผ้า ยารักษาโรค หนังสือเครื่องเรียน ท่านเดินทางไปแจกแทบทุกจังหวัดนอกจากที่ได้กล่าวมา หลวงย่าท่านยังได้ก่อตั้งอนุสงฆนี อบรมเด็กผู้หญิงให้ได้หลักใจหลายรุ่นนับได้จำนวนนับร้อย

 

ธรรมแห่งการบำเพ็ญเพียร

หลวงย่ามีความผูกพันในประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างที่สุด  หากสถานที่ใดที่เคยเป็นเขตสู้รบในอดีต มีวิญญาณที่ตกค้างและติดอยู่ ไม่ได้ไปไหน ท่านจะเดินทางไปทำบุญอุทิศให้เสมอ และสอนธรรมะให้วิญญาณ ละวางความโกรธแค้น อันเป็นเหตุให้หลุดพ้นและเป็นปัจจัยให้ได้ไปอุบัติในสุคติภูมิต่อไป

 

สร้างวัดอุทิศแด่พระศาสนา

หลวงย่าได้มอบที่ดินให้สร้างวัดอีก ๒ วัด คือ วัดกัลยาณีทรงธรรม ริมแม่น้ำท่าจีน อ.สามพราน จ.นครปฐม เนื้อที่ ๗ ไร่

อีกแห่งหนึ่ง เพื่อเถิดพระเกียรติปฐมกษัตรีย์อาณาจักรหริภุญชัย ท่านได้ซื้อที่ดิน ๗๒ ไร่ และสร้าง “ วัตรพระนางจามเทวี “ ใน

ต.บ้านก้อ.อ. ลี้ จ.ลำพูน เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ ขณะนั้นอายุท่านได้ ๘๒ ปีแล้ว

 

วาระสุดท้าย

ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๙ ที่ท่านปลงผมบวชมา ท่านไม่เคยเจ็บหนักถึงส่งโรงพยาบาลเลย กายสังขารของท่านไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอื่นใด แต่ความชราเข้ามาครอบงำ ร่างกายค่อยๆ เสื่อมลง จนกระทั่งวันที่ ๒ ก.ค. พ.ศ.๒๕๓๔ ตั้งแต่นั้น ท่านไม่ได้ลุกเดินอีกเลย แต่ยังลุกนั่งและฉันอาหารเองได้ ในช่วง ๒ปีสุดท้าย เมื่ออายุได้ ๙๔ ปีเป็นต้นมา ท่านจะมีเวลาตื่นน้อยมาก ส่วนมากจะหลับนานจะตื่นขึ้นมาเดี๋ยวเดียว พอฉันอาหารแล้วจะหลับต่อ ต้องคอยหาโอกาสจึงได้เข้ามาคุยกับท่าน

เย็นวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖   ก่อนวันที่ท่านจะมรณภาพ  ท่านบอกเพียงว่า “ ท่านเหนื่อย “   และเช้าวันที่

๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖  ท่านก็ยังคงรู้ตัวและมีสติดีตลอดมา  ครั้นผู้ดูแล บอกท่านว่า “ หลวงย่าไม่มีอะไรห่วงแล้ว  อาจารย์

ฉัตรสุมาลย์ก็ได้บวชเป็นภิกษุณีแล้ว วัตรที่ลำพูนก็เสร็จแล้ว” ท่านพยักหน้ารับรู้ ปิดตาลง หัวใจเต้นช้าลง อ่อนลง ท่านจากไปอย่างสงบ เมื่อเวลา ๐๗.๔๐น. ตรงกับเวลาตกฟากเกิด หรือ พระบิณฑบาตกลับ รวมสิริอายุได้ ๙๕ ปี กับอีก ๒ เดือน ๑๓ วัน นับเป็นปูชนียบุคคลมีอายุยืนยาวถึง ๕ รัชกาล

 


แบ่งปัน

 

 

 
ประวัติวัตร

 

วัตรนี้สร้างโดยพระมหาโพธิธรรมาจารย์ ภิกษุณีโพธิสัตต์ วรมัย กบิลสิงห์ ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยซื้อที่ดินจากพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ดิศจี พระนางเจ้าในรัชสมัย รัชกาลที่ ๖ แล้วก่อสร้างเป็นวัตรสำหรับผู้หญิง บนเนื้อที่ ๖ ไร่ ริมถนนเพชรเกษม กม. ๕๒-๕๓ ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม ใช้ชื่อว่า วัตรทรงธรรมกัลยาณี ภิกษุณีอาราม สะกดตามรูปแบบสันสกฤต โดยรวมชื่อวัตร แปลว่า สถานที่ที่ผู้หญิงมาปฏิบัติธรรม ซึ่งวัตรฯ ได้ก่อร่างสร้างไว้ด้วยทุนส่วนตัว ร่วมกับลูกหลานญาติมิตรฝ่ายโพธิสัตต์ เป็นสถานที่สำหรับผู้มี “หลักใจ” ในการปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างบารมีตามรอยพระพุทธองค์เพื่อพุทธภูมิ

ด้านหน้าตัวอาคารเป็นตึกสามชั้นงามสง่า ตั้งอยู่ในบริเวณเนื้อที่กว่า ๖ ไร่ ประกอบด้วย โบสถ์ พระวิหาร พระอาราม ตึกกรรมฐาน ฯลฯ

 

กดที่รูป เพื่อดูวิดีโอแนะนำวัตร จากยูทูป

 

เป้าหมายของวัตร

๑. สืบสานพระพุทธศาสนา โดยการเผยแผ่พระธรรมวินัย มีการพิมพ์วารสารและหนังสืออย่างสม่ำเสมอสำหรับชาวไทยและต่างชาติ

๒. สร้างความตระหนักในภาระหน้าที่ของพุทธบริษัท ๔ โดยเน้นการปฏิบัติเริ่มต้นจากตนเอง

๓. สืบสานพระภิกษุณีสงฆ์ เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับสังคมพุทธทั้งในประเทศและต่างประเทศ

๔. สร้างความตระหนักในภาระหน้าที่ที่จะต้องดูแลสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต้องเริ่มจากตัวเรา

๕. ดูแลสุขภาพกายและจิตของสมาชิก

 

บรรยากาศภายในวัตร

 

  • ที่พักสะดวก เป็นสถานที่ที่ให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเข้ามาปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นวัตรแรกสำหรับผู้หญิง จึงมีความตั้งใจที่จะสร้างที่อยู่อาศัยให้เป็นสัปปายะสำหรับสตรีโดยตรง
  • สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น และทำสมาธิร่วมกัน
  • ห้องสมุดที่ได้มาตรฐานสำหรับค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา มีหนังสือทั้งภาษาไทยและอังกฤษ
  • พระวิหารพระไภษัชฯ ในสวนสมใจนึกด้านหลัง เปิดให้ทำสมาธิตลอดวัน
  • บรรยากาศสวนอันสงบเงียบและร่มรื่น
  • พระอาจารย์ให้คำปรึกษาทั้งในด้านการปฏิบัติและให้ความรู้ทางธรรม
  • มีหนังสือและซีดีธรรมะสำหรับผู้ที่สนใจ อินเตอร์เน็ตไร้สาย ที่จอดรถสะดวก

 

 


ทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม ต. พระประโทน อ.เมืองฯ จ.นครปฐม 73000
โทร. (034)258-270 โทรสาร (034) 284-315 E-mail: [email protected]
Copyright (c) 2002-2006 Thai Bhikkhunis All rights reserved.


จำนวนผู้เข้าชม ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2549