อวยพร เขื่อนแก้ว 

           
สภาพการณ์ของแม่ชีไทยในปัจจุบัน
            ข้อมูลของสถาบันแม่ชีไทยบอกว่ามีจำนวนแม่ชีที่จดทะเบียนเป็นสมาชิกของสถาบันประมาณ ๗,๐๐๐ รูป แต่จำนวนจริง ๆ คงจะเกินหมื่นเพราะมีแม่ชีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ขึ้นอยู่กับสถาบัน 
             สถาบันแม่ชีไทยก่อตั้งมากว่า ๓๐ ปี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมแม่ชีในด้านต่าง ๆ แต่เนื่องจากว่าแม่ชีไม่ได้รับการยอมรับว่ามีสถานภาพเป็นนักบวชเช่นเดียวกับพระสงฆ์ สถาบันจึงไม่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่ว่าจากหน่วยงานใด ๆ รวมทั้งกรมศาสนาอันเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องการพระศาสนาโดยตรง สิ่งที่สถาบันแม่ชีทำได้เท่าที่ผ่านมาคือ การจัดประชุมใหญ่ประจำปี ปีละ ๑ ครั้ง ซึ่งแม่ชีส่วนใหญ่ตามชนบทไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมนี้ได้เพราะทางสถาบันไม่มีค่าเดินทางสนับสนุนให้ แม่ชีส่วนใหญ่ไม่มีปัจจัยส่วนตัวกอปรกับต้องเสียค่าเดินทางเต็มราคา (ในขณะที่พระเสียครึ่งราคาเพราะมีกฎหมายรองรับว่าเป็นนักบวช) ที่เราได้ยินมาบ้างเรื่องแม่ชีทำงานพัฒนาสังคมเรื่องเด็กหรือผู้หญิงนั้น ล้วนเป็นงานที่สำนักชี หรือกลุ่มแม่ชีต่างหาทุนมาทำกันเองตามกำลังทรัพย์และปัญญาที่มีอยู่
             แม่ชีไม่ได้ถูกละเลยจากสถาบันขององค์กรของรัฐ หรือองค์กรของสงฆ์เท่านั้น แต่ภาคเอกชน เช่น องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งหลายโดยเฉพาะองค์กรพัฒนาสตรีที่มีอยู่มากมาย ก็ไม่ได้ให้ความเหลียวแลแก่แม่ชีแต่ย่างใด จากจำนวนองค์กรพัฒนาเอกชนผู้หญิงที่ประเทศเรามีอยู่เป็นพันองค์กรนั้น มีอยู่เพียงองค์กรเดียวเท่านั้นที่ทำงานช่วยเหลือแม่ชี โดยพยายามจัดโครงการศึกษาอบรมแลพะพัฒนาให้แก่แม่ชีในระยะ ๔-๕ ปีที่ผ่านมา
คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา(ศพพ.)ซึ่งก่อตั้งมากว่า ๒๐ ปีนั้น แต่เดิมทำงานถวายความรู้ให้กับพระสงฆ์ที่สนใจงานพัฒนาสังคม เมื่อ ๑๐ ปี ที่แล้ว ศพพ.ได้เริ่มโครงการช่วยเหลือแม่ชีแต่ก็ขาดตอนเป็นช่วง ๆ เนื่องจากปัญหาเจ้าหน้าที่ขาดแคลน จนเมื่อปี ๒๕๓๘ ศพพ.จึงคิดโครงการถวายความรู้ให้แม่ชี โดยทำงานร่วมกับเสมสิกขาลัยสอนหลักสูตรนอกระบบให้กับแม่ชีไทยในเรื่อง การเป็นผู้นำ การทำงานเป็นกลุ่ม การแก้ไขข้อขัดแย้ง การวิเคราะห์สังคมเชิงพุทธ นิเวศน์วิทยาแนวลึก การถ่ายทำวิดีโอ และการฝึกวิทยากรเพื่อทำงานสังคม เป็นต้น 
             ศพพ.ช่วยสนับสนุนให้เกิดกลุ่มกัลยาณมิตรในหมู่แม่ชีที่เข้ามาร่วมในงานของศพพ. ( ทั้งที่อยู่นอก-ในสถาบันแม่ชี ) และสนับสนุนด้านวิชาการ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่แม่ชีที่สนใจทำงานเพื่อสังคม หลังจากที่ได้เข้าร่วมเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ ของศพพ. นอกจากนี้แล้วศพพ. ยังทำงานร่วมกับโครงการพัฒนาสตรีขององค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม
(International Network of Engaged Buddhists ) ในการจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ ตลอดจนการศึกษาดูงานระหว่างแม่ชีไทยและแม่ชีชาวพุทธนิกายอื่น ๆ ใน เอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
             ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นหนึ่งในจำนวนวิทยากรที่ถวายความรู้ให้แก่แม่ชี ผู้เขียนอยากแบ่งปันประสบการณ์การทำงานกับแม่ชีไทยดังนี้ คือ แต่เดิมที่เราเห็นว่าเป้าหมายหลักของการทำงานกับแม่ชีคือการเพิ่มพูนศักยภาพให้แก่แม่ชีโดยการอบรมวิชาต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร ความคิด และทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น โดยรวมถึงการเข้าใจปัญหาสังคมในเชิงโครงสร้าง เช่น การชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างความรุนแรงในสังคมไทยที่เป็นเหตุให้เกิดความหายนะ ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและกลุ่มบุคคลผู้ไร้อำนาจ และโอกาสในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงและตัวแม่ชีเอง เรายังช่วยเหลือสนับสนุนแม่ชีที่ทำงานพัฒนาสังคมอยู่แล้ว หรือสนใจจะเข้าร่วมหรือริเริ่มโครงการเอง เราคิดว่าหากเราทำให้แม่ชีที่ทำงานพัฒนาสังคมอยู่แล้วทำงานนั้น ๆ ให้ดียิ่งขึ้น และชักชวนให้ผู้ที่สนใจทำงานสังคมแต่ขาดโอกาส ทักษะ และข้อมูล รวมถึงทรัพยากรที่จำเป็นมาทำงานพัฒนาสังคม ไม่ว่าจะเป็นงานช่วยเหลือเด็กหญิง เด็กเล็ก เรื่องสมุนไพรและการรักษาเยียวยา และการเผยแพร่ธรรมะ จะทำให้งานและชีวิตแม่ชีที่ถูกปิดบังช่อนเร้นจนคนมองไม่เห็นความหมายและคุณค่านั้น เป็นที่ตระหนักในสายตาของสาธารณชนขึ้นมา 
             กลยุทธของเรารวมไปถึงการพยายามทำงานกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นคณะกรรมการของสถาบันแม่ชี เพราะเห็นว่าหากทำงานเฉพาะกับแม่ชีรากหญ้าที่อยู่ริมขอบแล้วคงไม่เกิดผลนัก หากพวกท่านไม่ได้รับการสนับสนุนเห็นชอบจากตัวสถาบันเองที่เป็นผู้กำหนดนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ ให้แม่ชีปฏิบัติตาม เรื่องนี้ทำได้ยากเพราะแม้ว่าเราจะพยายามอยู่หลายครั้ง เราก็เข้าถึงแค่จำนวนแม่ชีผู้ใหญ่ไม่กี่ท่านที่สนใจเข้าร่วมการอบรมที่เราจัดขึ้น 
อีกกลยุทธหนึ่งคือการสร้างแนวร่วมให้แม่ชีโดยการให้แม่ชีเข้าฝึกอบรมร่วมกับพระสงฆ์ที่ทำงานพัฒนาสังคม วิธีการนี้ทำขึ้นเพื่อให้พระสงฆ์เข้าใจสภาพปัญหาและความเป็นอยู่ของแม่ชี และเพื่อให้แม่ชีมีความคุ้นเคยที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับพระสงฆ์โดยไม่รู้สึกหวาดกลัว เพราะแม่ชีจำนวนมากในบ้านเราอยู่ในความปกครองของพระสงฆ์ หากพระสงฆ์เหล่านี้ไม่เข้าใจสภาพปัญหาและความต้องการของแม่ชีแล้วการที่เราจะส่งเสริมพัฒนาแม่ชียิ่งทำได้ยากขึ้น เพราะแม่ชีจะขาดพันธมิตรที่คอยให้ความสนับสนุน 
หลังจากดำเนินงานตามวิธีการเหล่านี้ไปได้ ๓ ปี ซึ่งในบางช่วงเราก็เกิดความท้อแท้และอยากล้มเลิก เราค้นพบว่าการทำงานเฉพาะกลุ่มแม่ชีไม่ว่าจะในส่วนที่เป็นสถาบันหรือกลุ่มแม่ชีรากหญ้า ยังไม่พอเพียงที่จะพัฒนาสถานภาพแม่ชีไทยให้ดีขึ้นทั้งนี้เพราะสาเหตุหลายประการคือ
              ประการแรก แม่ชีนั้นถูกครอบงำและกดขี่โดยระบบสังคมแบบชายเป็นใหญ่ที่เข้าไปยึดครองทุกอาณาบริเวณของชีวิตแม่ชี แม่ชีที่เราทำงานด้วยใน ๓ ปีที่ผ่านมาเล่าให้เราฟังว่า เมื่อพวกท่านออกมาจากวัดหรือสำนักชีเพื่อมาร่วมอบรมวิชาต่าง ๆ ที่จัดโดย ศพพ.เมื่อกลับไปที่สำนักและวัดพวกท่านพบว่าเป็นการยากมากที่จะเพิกเฉยต่อสภาวะแวดล้อมที่มีพระสงฆ์ หรือเจ้าสำนักชีเป็นผู้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ของชุมชนที่ท่านอยู่เนื่องจากว่าแม่ชีส่วนใหญ่ไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านการเงินจากครอบครัวหรือจากชาวบ้านทั่วไป พวกท่านจึงต้องพึ่งพาปัจจัยที่เจ้าอาวาสหรือเจ้าสำนักจัดหาให้ซึ่งบ่อยครั้งเจ้าสำนัก หรือเจ้าอาวาสเหล่านี้ก็เข้ามาควบคุมชีวิตของแม่ชี 
              แม่ชีเล่าว่าความรู้และทักษะที่เล่าเรียนมาจากการฝึกอบรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตัดสินใจร่วมกันเป็นกลุ่ม การทำงานร่วมกัน การยืนยันสิทธิตนเองและการสอนธรรมะแบบมีส่วนร่วมนั้น ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในสภาพของชุมชนที่ปกครองโดยอำนาจเบ็ดเสร็จ 
              นอกจากนี้แล้วยังถูกกล่าวหาว่าทำอะไรแปลก ๆ นอกลู่นอกทาง แม่ชีรูปหนึ่งเล่าให้ฟังว่า 
" แม่ชีที่สำนักของฉันกล่าวหาว่าฉันมีความคิดแบบคอมมิวนิสต์หลังจากที่เข้ามาร่วมอบรมกับ ศพพ." ดังนั้นเจ้าสำนักและเจ้าอาวาสหลายแห่งจึงไม่เต็มใจจะส่งแม่ชีเหล่านั้นกลับมาร่วมอบรมกับศพพ.อีก เพราะเกรงว่าลูกวัดจะไปเรียนเอาความรู้ที่ไม่เป็นไปตามกฏและระเบียบของวัด ข้างฝ่ายแม่ชีผู้ใหญ่กังวลกันไปว่า แม่ชีสาวที่มาเข้าร่วมอบรมเหล่านี้อาจจะทำให้ภาพพจน์ของสถาบันเสื่อมเสีย หากพวกท่านไม่ยอมจำนนต่อโครงสร้างและธรรมเนียมปฏิบัติอันกดขี่ ซึ่งเป็นระบบที่ส่งผลโดยตรงสถานภาพอันต่ำต้อยของตัวแม่ชีเอง
              เมื่อแม่ชีเหล่านี้ตัดสินใจย้ายออกจากสำนักหรือวัดไปหาชุมชนใหม่ เพื่อใช้วิถีชีวิตที่ต่างออกไป หรือเพื่อริเริ่มโครงการพัฒนาสังคมด้วยตัวเอง นี้ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากเพราะระบบสังคมแบบชายเป็นใหญ่กีดกั้นไม่ให้พวกท่านทำได้อย่างที่หวัง หากแม่ชีไปอยู่ในชุมชนใหม่เพื่อที่จะทำอาหารถวายพระ และทำความสะอาดวัด พระและชุมชนก็จะต้อนรับท่านอย่างดี เมื่อแม่ชีเข้าไปสู่ชุมชนใด ๆ เป็นเรื่องปกติที่แม่ชีจะไม่ได้รับการถวายอาหาร ที่พัก เครื่องอัฐบริขาร ความเคารพและการสนับสนุนเหมือนที่พระสงฆ์จะได้รับ 
              นอกจากนี้แล้ววัดส่วนใหญ่ก็ไม่อยากรับแม่ชีเข้าไปอยู่ร่วมในชุมชน หรือถ้าจะรับให้เข้าไปอยู่ในวัดก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะสนับสนุนให้แม่ชีทำงานพัฒนาสังคมที่ท่านต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเจ้าอาวาสเองก็ไม่สนใจงานพัฒนาด้วย นอกจากนี้แล้วหากเจ้าอาวาสสนใจที่จะสนับสนุนแม่ชีให้ทำงานพัฒนาสังคมก็หมายความว่า แม่ชีท่านนั้นจะต้องพึ่งพาและอยู่ในการควบคุมของพระในทุก ๆ ด้าน 
แม่ชีรูปหนึ่งจากกาญจนบุรีเล่าให้เราฟังว่า 
             
"แต่แรกพวกเราสามคนทำงานหนักมากเพื่อจะปรับปรุงโครงการศูนย์เด็กเล็กที่เจ้าอาวาสสร้างขึ้น เพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนไทยพม่า เจ้าอาวาสขอร้องให้พวกเราไปทำงานที่นั่นเพราะท่านบอกว่าท่านไม่รู้วิธีการดูแลสั่งสอนเด็กเล็ก เจ้าอาวาสสนับสนุนเราทุกอย่างและเราก็ได้ทำงานอย่างแข็งขัน จากนั้นไม่กี่เดือนสภาพโรงเรียนและการเรียนการสอนดีขึ้นมากจนชาวบ้านปลื้มอกปลื้มใจ และเข้ามาช่วยเหลือการทำงานของพวกเราอย่างแข็งขัน พวกเราสามคนจะติดรถไปรับส่งเด็กนักเรียนทั้งตอนเช้าและตอนเย็นตามหมู่บ้านต่าง ๆ ด้วยวิธีนี้เราจึงรู้จักผู้ปกครองและชุมชนรอบ ๆ เป็นอย่างดี มาภายหลังเจ้าอาวาสไม่ค่อยพอใจที่ชาวบ้านมานิยมชมชอบงาน และเข้ามาสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเรามากขึ้น ท้ายที่สุดท่านบอกกับเราว่าท่านจะเอาโรงเรียนกลับไปบริหารเองตามแบบที่เคยทำมา พวกเราจึงต้องย้ายออกจากชุมชนที่นั่น"
               แม่ชีอีกรูปหนึ่งที่พึ่งเสร็จสิ้นการทำงานกับชุมชนชาวท่านแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่เล่าต่อว่า 
              
"แม่ชีได้รับการเชื้อเชิญจากพระที่อยู่ในหมู่บ้านนั้น เพราะท่านประทับใจวิธีการสอนธรรมะแบบมีส่วนร่วมที่มีแม่ชีจัดให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเราไปอยู่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านโดยเฉพาะคณะกรรมการวัดซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมดไม่ชอบใจวิธีการสอนธรรมะของเรา พวกเขาอยากจะให้เราทำตัวแบบเจ้าอาวาสที่มีหน้าที่หลักคือ นำพิธีกรรมและใช้เวลาที่เหลือดูทีวี แม้ว่างานสอนธรรมะแก่เยาวชนของเราดำเนินไปด้วยดีเพราะเด็ก ๆ ชื่นชอบ และประหลาดใจที่พบว่ามีวิธีการสอนธรรมะแบบอื่น ๆ ที่สนุกและน่าสนใจด้วย ทั้งกลุ่มแม่บ้านก็เข้ามาสนับสนุนงานเราเต็มที่ แต่ท้ายที่สุดพวกเราต้องย้ายออกจากชุมชนนั้นเพราะเจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัดไม่เห็นด้วยกับวิธีการทำงานของเรา"
                ในช่วงระหว่างวันที่ ๒-๖ พฤศจิกายนปี ๒๕๔๒ ที่ผ่านมา ศพพ. ได้จัดการฝึกอบรมเรื่องการสร้างสรรค์ชุมชนให้แก่แม่ชี ๒๐ รูป แม่ชีกว่าครึ่งเป็นแม่ชีที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของพระสงฆ์ นี้เป็นครั้งแรกที่เราสามารถดึงแม่ชีชนบทเข้ามาร่วมการอบรมของเรา โดยที่แม่ชีส่วนใหญ่ไม่ได้จดทะเบียนกับสถาบันแม่ชีไทย แม่ชีเหล่านี้มาจากสำนักชีและวัดต่าง ๆ จากภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสานและภาคใต้
                ในช่วงการสอบถามความคาดหวังเราพบว่าสิ่งที่แม่ชีอยากเรียนรู้มากที่สุดคือ วิธีการทำงานและการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ในชุมชนนักบวช พวกท่านอยากทราบว่าสังคมไทยคิดอย่างไรและคาดหวังอะไรจากแม่ชี ต้องการทราบวิธีการทำงานกับชุมชนและอยากแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ชีวิตระหว่างแม่ชีด้วยกันเอง
                การอบรม ๕ วันนี้จัดขึ้นเพื่อฝึกแม่ชีให้เรียนรู้ในเรื่องการทำงานเป็นหมู่คณะ การรู้จักตนเองและผู้อื่น การเพิ่มพูนศักยภาพ ความมั่นใจ การเรียนรู้ประเด็นเรื่องอำนาจ ผู้นำ และการนำแบบต่าง ๆ ประเด็นหญิงชาย และการแลกเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตนักบวช การอบรมนี้ใช้วิธีการอบรมแบบผ่านประสบการณ์ โดยใช้เกม บทบาทสมมุติ การวาดภาพ การถาม และการฟังเรื่องราวของกันและกัน เนื้อหาต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลการพูดคุยแลกเปลี่ยนของกลุ่มแม่ชี

               
ทำไมจึงบวช
                เจ้าสำนักชีแห่งหนึ่งในภาคเหนือเล่าว่า 
               
"เรามองเห็นว่าชีวิตทางโลกมิใช่หนทางที่เราต้องการทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้นธุรกิจครอบครัวที่ดูแลอยู่กำลังไปได้ดี เริ่มแรกก็ไปลองบวชเป็นชีพราหมณ์ จากอาทิตย์เป็นเดือนจาก ๑ เดือน เป็น ๓ เดือน สามีเขามาเยี่ยมขอร้องให้กลับไปบ้าน เราก็ขอผ่อนผันเรื่อยมา พอครบสามเดือนเขาก็มาตามอีก คราวนี้มานั่งคุกเข่าและขอร้องให้เรากลับบ้าน ไปดูแลธุรกิจและเลี้ยงลูก แต่ด้วยความที่ได้ตัดสินใจแน่นอนว่าจะบวชจึงให้แม่ชีที่สำนักโกนหัวให้ในวันนั้นเลย เพราะคิดว่าหากบวชเป็นชีแล้ว เขาคงเลิกคาดหวังว่าเราจะกลับไปใช้ชีวิตทางโลกอีก 
"แต่สิ่งที่ทรมานใจมากคือ ลูก ๆ ไม่เข้าใจเราและไม่ยอมมาเยี่ยมเลยในช่วงแรก ๆ เพราะคิดว่าเราทิ้งเขา ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วเราไม่ได้ทิ้งพวกเขาเลย แต่เรามีความเลื่อมใสในการปฏิบัติธรรมมากจนเห็นว่านี่แหละเป็นทางที่เราปรารถนา"
                เจ้าสำนักชีแห่งหนึ่งจากชนบทในภาคอีสานเล่าต่อว่า 
               
"เราบวชเป็นชีเพราะเบื่อหน่ายกับชีวิตทางโลกมาก เบื่อหน่ายชีวิตที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ตลอดเวลา เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งสนองกิเลสอย่างไม่สิ้นสุด วันที่โกนหัวนั้นรู้สึกถึงความปลื้มปีติเยือกเย็นลึก ๆ ข้างใน คำพูดในใจที่ผุดขึ้นมาและเรายังจำได้ไม่ลืม คือจะเอาพระรัตนตรัยไปฝากแม่"
                 สำหรับแม่ชีผู้เข้าร่วมอบรมทุกรูป ไม่ว่าเยาว์หรือชราต่างเข้ามาบวชเพื่อมุ่งปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มิใช่หมดหนทางที่จะไป อกหัก หรือหางานทำไม่ได้ แต่เมื่อบวชแล้วท่านมาอยู่ในชุมชนไม่ว่าจะเป็นที่วัดหรือสำนักชี พวกท่านบางคนค้นพบว่าในชุมชนผู้ปฏิบัติธรรมนั้นมีแต่ความยุ่งยากมากมาย มิใช่สุขสงบอย่างที่คาดหวังไว้ ทั้งปัญหาความขัดแย้ง การใช้อำนาจบาดใหญ่ของเจ้าสำนักหรือสมาชิกชุมชนคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 
แม่ชีหลายคนกล่าวว่า 
                
"เมื่อเห็นเช่นนั้นก็เกิดความสับสนในการถือศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นหลักในการถือปฏิบัติของนักบวชว่า ทำไมถึงไม่ก่อให้เกิดความสุขสงบ" 
                 นี้เป็นเรื่องท้าทายสำหรับพวกท่านมาก เพราะตั้งใจมาบวชเพื่อยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งเพื่อหาทางพ้นทุกข์ บ่มเพาะความสุขและสงบใจเพื่อจะสามารถเผชิญกับทุกข์ของตนได้ แต่กลับเผชิญกับสภาพชุมชนนักบวช ที่ไม่เอื้อต่อการฝึกฝนธรรมะ พวกท่านยังตระหนักด้วยว่า มีแม่ชีอีกหลายท่านที่มาบวชด้วยสาเหตุต่าง ๆ กันไป เช่น บางรูปนั้นเป็นผู้ที่ผ่านการกระทำรุนแรงในครอบครัวมาก่อน บางคนมาบวชเพราะอายุมากหรือเจ็บป่วยลูกหลานทอดทิ้งไม่ดูแล แม่ชีสาว ๆ บางรูปมาบวชเพราะพ่อแม่อยากให้อยู่ในความดูแลของแม่ชี พ่อแม่ไม่สามารถส่งเรียนต่อสูง ๆ ได้ หากยังอยู่ในเพศฆราวาสก็เกรงลูกสาวจะไปติดยาเสพติด หรือไปมั่วสุมทางเพศสัมพันธ์เช่นวัยรุ่นคนอื่น ๆ ในชนบท ตัวแม่ชีน้อยเองก็ไม่มีทางเลือกมากนักในชีวิตฆราวาสนอกจากไปทำงานโรงงาน ทำงานตามร้านอาหารหรือแต่งงาน

                       ทำไมเราจึงไม่สึก
                  เนื่องจากสังคมไทยไม่มีการบวชภิกษุณีหรือพระผู้หญิง ดังนั้นเราจึงไม่มีกระบวนการให้การศึกษาอย่างเป็นระบบให้แก่แม่ชี ไม่มีการช่วยเหลือด้านการเงินหรือปัจจัยอื่น ๆ ให้กับแม่ชีแต่อย่างใด แม่ชีที่อยู่ในวัดที่รวมเอาทั้งแม่ชีและพระสงฆ์ไว้ด้วยกันจะลำบากมากขึ้นแม้ทางวัดจะแยกให้อยู่เป็นสัดส่วนก็ตาม
                  แม่ชีเล่าต่อว่า การจะบวชเป็นชี การจะดำรงชีวิตความเป็นนักบวชให้ได้ดีและการจะสึกล้วนเป็นเรื่องยาก แม่ชีที่เลือกบวชเพราะต้องการศึกษาธรรมะ จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายเพื่อจะได้บวช เพราะสังคมไทยไม่เห็นคุณค่าของการบวชชี ครอบครัวส่วนใหญ่โดยเฉพาะพ่อแม่มักจะไม่เห็นด้วย เมื่อลูกสาวต้องการบวชชี แม่ชีหลายรูปเล่าให้เราฟังว่า พ่อแม่พวกท่านใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อกีดกันหรือกดดันไม่ให้บวชหรือให้สึก เช่น การไม่พูดด้วย ไม่ให้เงินทองข้าวของเครื่องใช้ในขณะที่บวช บอกว่าการบวชชีทำให้ครอบครัวขายหน้า มารบเร้าให้สึกทุก ๆ เดือน หรือกล่าวหาเป็นลูกอกตัญญูเพราะไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ เป็นต้น 
                  แม่ชีท่านหนึ่งกล่าวว่า ทั้งสังคมและรัฐบาลไม่สนับสนุนส่งเสริมพวกเราเพราะพวกเราไม่มีสถานะ ไม่มีกลุ่ม ไม่มีที่ ๆ จะอยู่ในสังคมแม้แต่ในกลุ่มผู้หญิง จะเป็นนักบวชท่านก็ไม่ยอมรับ จะเป็นผู้หญิงก็ไม่ใช่เพราะเราใช้ชีวิตต่างจากฆราวาสหญิง การเป็นแม่ชีจึงเลวร้ายกว่าการเป็นผู้หญิงกลุ่มใด ๆ ในสังคม กระนั้นก็ตามแม่ชีหลายคนถือว่าอุปสรรคเหล่านี้เป็นการท้าทายให้อยู่ในสมณเพศให้ได้ เพื่อพิสูจน์ให้ตนเองและครอบครัวเห็นว่าพวกท่านมีความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว และอดทน แม้จะมีอุปสรรคมากมายก็ตาม
                  แม่ชีรูปหนึ่งจากวัดทางภาคกลางซึ่งบวชกว่า ๑๖ พรรษา ได้ตัดสินใจจะสึกก่อนจะมาเข้าอบรม ในวันสุดท้ายของการอบรมท่านพูดกับที่ประชุมว่า " เราตัดสินใจจะสึกแล้ว เราไม่ได้ตั้งใจมาอบรม แต่มาเป็นเพื่อนแม่ชีที่มาด้วยกัน หลังจากอบรมผ่านมา ๔ วัน เราเปลี่ยนใจจะไม่สึกแล้ว เราได้กำลังใจจากเพื่อน ๆ เราเห็นว่าการอบรมนี้ต่างจากที่เราอบรมมาก่อนหน้านี้ การอบรมที่เราเคยไปจะเป็นการอบรมที่ให้แม่ชี หรือพระกับแม่ชีเป็นร้อย ๆ มานั่งฟังวิทยากรบรรยายเรื่องต่าง ๆ แต่หลังจากที่เราได้มาอบรมแบบนี้ ที่ให้มานั่งเป็นวงกลม เห็นหน้ากันหมด นั่งถาม-ฟัง กันอย่างใส่ใจและเท่าเทียมกันทำให้เราพอใจมากและรู้สึกมีพลังใจ เราเลยเปลี่ยนใจจะไม่สึกแล้ว 
                  เมื่อวานเย็นเราโทรศัพท์ไปหาหลวงพ่อที่วัดพูดให้ท่านฟังถึงความรู้สึกอึดอัดใจต่าง ๆ ที่เรามีต่อท่านแต่เราไม่เคยบอกท่านมาก่อน เราบอกท่านว่าเราไม่สบายใจเวลาทำงานกับท่าน เพราะท่านทำตัวสูงเกินไปจนคนไม่กล้าเข้าใกล้ แม้ว่าท่านจะทำงานมีประโยชน์มากมาย แต่การที่ท่านคิดการอยู่เพียงลำพัง ลูกทีมคนอื่น ๆ รวมทั้งเราก็ไม่มีความสุขในการทำงาน เราบอกท่านว่าเราเปลี่ยนใจจะบวชต่อ ท่านถามเราว่า ศพพ. ทำอะไรให้เราจึงเปลี่ยนใจ เราบอกท่านว่าที่นี่เราเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกัน คิดร่วมกัน มีการฟัง และเคารพความรู้สึกนึกคิดของกันและกัน ท่านจึงบอกเราว่าท่านเพิ่งตระหนักว่าท่านทำตัวสูงกว่าคนอื่น ๆ ท่านบอกว่าต่อนี้ไปท่านจะลดตัวลงมาครึ่งหนึ่งและขอให้เราและลูกวัดคนอื่น ๆ ขยับเข้ามาอีกครึ่งทางเพื่อทั้งสองฝ่ายจะได้ทำงานกันได้ด้วยดี

                 
แล้วจากนี้เราจะทำอย่างไร
                  แม่ชีที่เข้าร่วมอบรมมีความต้องการให้ศพพ. จัดให้มีการอบรมแนวนี้เพื่อให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างแม่ชีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกับแม่ชีในชนบท เพราะมีแม่ชีสาวจำนวนมากในต่างจังหวัดที่ตั้งใจบวชอย่างจริงจัง แต่ก็ลาสึกกันไปเพราะไม่เห็นหนทางที่จะพัฒนาตนเอง 
                  แม่ชีเฒ่าวัย ๗๕ ปี ที่มาจากสวนโมกข์พูดขึ้นว่า 
"ยายบวชมานานกว่า ๑๐ ปี นี่เป็นครั้งแรกที่ได้มาร่วมอบรมเฉพาะกับแม่ชีที่มาจากต่างถิ่น "ท่านพูดด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่า " นี่อาจเป็นผลของการสวดภาวนาของยายที่ทำให้ยายมีโอกาสได้มาพบปะพูดคุยกันอย่างนี้ ก่อนหน้านี้ยายกังวลอยู่เสมอกับอนาคตของพุทธศาสนาบ้านเรา เพราะไม่เห็นว่ามีผู้หญิงเข้ามาบวชกัน ๓-๔ วันมานี้หลังจากยายได้ฟังความคิดความเห็นความตั้งใจบวชและปฏิบัติธรรมของแม่ชีสาว ๆ แล้วยายเห็นว่าศาสนาพุทธเรายังมีความหวัง ยายคิดว่านี่น่าจะเป็นวิธีการตัวอย่างที่แม่ชีจะใช้ชีวิตศึกษาปฏิบัติธรรมร่วมกัน"
                  ส่วนแม่ชีน้อยที่ยังอ่อนพรรษาต่างกล่าวว่า ตอนนี้พวกท่านยังไม่สนใจที่จะทำงานเพื่อสังคมเพราะอยากจะมุ่งเรียนธรรมะและการศึกษาทางโลกไปก่อน เมื่อมีความรู้ ความสามารถ ความมั่นใจแล้วจึงจะออกไปช่วยเหลือสังคม แม่ชีน้อยอายุ ๑๗ ปี จากชนบททางภาคอีสานพูดว่า
"ตอนนี้ยังเอาตัวเองแทบจะไม่รอดเลยค่ะ แล้วจะไปช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไร"

                 
สังคมไทย:จะเอาภิกษุณีหรือให้มีโสเภณีเพิ่มขึ้น
                   บ้านเรามีพระสงฆ์ประมาณสองแสนกว่ารูป จำนวนโสเภณีอาจจะมากหรือน้อยกว่าจำนวนพระสงฆ์แล้วแต่จะเอาตัวเลขใครเป็นหลัก ตัวเลขที่ใกล้เคียงกันของจำนวนพระสงฆ์และโสเภณีบอกเราว่า คนสองกลุ่มนี้น่าจะมีอะไรเกี่ยวพันกันบ้าง เราทราบกันดีว่าในสังคมชนบทนั้นในทุก ๆ หมู่บ้าน วัดจะเป็นหนึ่งในสถาบันที่มีทรัพยากรมากหรือมากที่สุดในชุมชน เราทราบด้วยว่าพระสงฆ์ส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากเด็กบ้านนอก และเข้ามาบวชเพราะเป็นหนทางที่จะหาความมั่นคงในชีวิตได้ หรืออีกนัยหนึ่ง คือบวชเพื่อเป็นทางไต่เต้าบันไดทางสังคมหรือเพื่อเหตุผลอื่น ๆ ( เมียทิ้ง ลูกทิ้ง ติดเหล้าติดยา หางานทำไม่ได้ เป็นคนไม่เอาถ่าน พ่อแม่จึงจับบวชเพื่อให้เป็นคนดี เป็นต้น) มิใช่เพราะซาบซึ้งในรสพระธรรมหรือบวชเพื่อศึกษาธรรมมะเพื่อจะช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์
                   เมื่อเป็นเช่นนี้ สังคมไทยหลายสิบปีมานี้จึงต้องอดทน อดกลั้นกับเรื่องราวอื้อฉาว ผิดศีลธรรมของพระสงฆ์มากมายเรื่อยมาตั้งแต่สมีนิกร พระยันตระ จนมาถึงกรณีธรรมกาย นี้ยังไม่นับพระในชนบทดาษดื่นที่ประพฤติตนผิดพระธรรมวินัย แต่ก็ยังคงดำรงความเป็นสมณเพศบริโภคทรัพยากรของชุมชนอย่างไม่เดือดร้อนได้ ภาวะเช่นนี้ทำให้พุทธศาสนาในสังคมไทยดูจะมืดมนและหมดหนทางที่จะเยียวยา 
                   ผู้หญิงที่ประกอบอาชีพโสเภณีส่วนใหญ่มาจากพื้นเพเดียวกันกับพระสงฆ์ เนื่องจากพวกเขาไม่มีทางเลือกฟรีเช่นเดียวกับเด็กหนุ่มบ้านนอก (ที่บวชเป็นพระได้) สิ่งที่พวกเขาทำได้คือทำงานในโรงงาน เป็นลูกจ้างตามบ้านหรือร้านอาหาร ทำงานในบาร์หรือเป็นโสเภณีเพื่อหาเงินเลี้ยงตัวเอง และส่งเงินให้ครอบครัวตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ ขบวนการสิทธิสตรีไทยได้สร้างคุณประโยชน์มากมาย เพื่อยกระดับสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมชีวิตของผู้หญิงชนบท แต่สิ่งหนึ่งที่มักจะถูกมองข้ามในกระบวนการวิเคราะห์สาเหตุของความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงในสังคมไทยคือ ทัศนคติ ความเชื่อและคุณค่าที่เป็นผลมาจากระบบสังคมแบบชายเป็นใหญ่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนานั่นเอง
ลองพิจารณากรณีของโสเภณีดู เป็นเวลาหลายปีที่องค์กรสตรีไม่เพียงแค่ต้องทำงานแก้ไขเรื่องนี้ในบ้านเราเท่านั้น แต่ต้องเข้าไปจัดการแก้ไขในระดับภูมิภาคโดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น พม่า ลาว เขมร ซึ่งล้วนเป็นประเทศนับถือพุทธศาสนาทั้งสิ้น
                   ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ บางทีนี้อาจจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับรูปแบบที่พุทธศาสนาดำรงอยู่ในสังคมเหล่านี้ก็อาจเป็นได้ การพูดคุยอภิปรายวิเคราะห์สาเหตุปัญหาโสเภณีที่ทำกันไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือนานาชาติ ต่างเอ่ยถึงว่าเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนาแบบตะวันตก อุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือล่าสุดคือบริโภคนิยม น้อยครั้งมากที่จะมีการเอ่ยถึงว่าสาเหตุของปัญหาโสเภณีเป็นเพราะผู้หญิงไม่มีบทบาทนำในสถาบันศาสนา
                   ในปี ๒๕๓๘ ก่อนการประชุมทศวรรษสตรีที่กรุงปักกิ่ง กลุ่มของพวกเราได้รับการติดต่อจากองค์กรสตรีให้ไปพูดคุยเรื่องบทบาทของผู้หญิงในพุทธศาสนา เพราะว่าองค์กรผู้หญิงไม่ทราบข้อมูลเรื่องนี้และไม่รู้จะจัดการอย่างไร เหตุผลหนึ่งที่กลุ่มองค์กรสิทธิสตรีมองไม่เห็นศาสนาพุทธเป็นสาเหตุหลักอันหนึ่งของการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิง เพราะว่าพวกเราเองส่วนใหญ่ปฏิเสธสถาบันพุทธศาสนา (แม้ว่าพวกเรายังอาจไปวัดทำบุญกันบ้าง) ว่าเป็นที่พึ่งทางจิตใจของเรา เราตระหนักว่าพุทธศาสนาถูกผูกขาดโดยระบบสังคมแบบชายเป็นใหญ่ และแทนที่จะปลดปล่อยพวกเราให้พ้นทุกข์กลับกดขี่ทำให้สถานภาพของพวกเราตกต่ำลง เราแทบจะไม่เจอพระสงฆ์ที่สามารถเป็นผู้นำพาการพัฒนาจิตใจของเราได้ หากจะพบพระสงฆ์บางรูปก็ไม่ง่ายนักที่จะเข้าไปศึกษาธรรมะด้วย เพราะกฎระเบียบอันเคร่งครัดของพุทธศาสนาแบบเถรวาทของเราเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับพระสงฆ์ เราได้ยินว่ามีครูอาจารย์ผู้หญิงอยู่บ้างแต่ก็มีน้อยเต็มที ดังนั้นเราจึงเข้าถึงได้ยาก เมื่อพวกเราส่วนใหญ่เห็นว่าแม่ชีไม่สามารถเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณแก่เราได้ เราจึงไม่รู้จะไปพึ่งใครเพื่อการพัฒนาหรือเยียวยาชีวิตด้านในของเราเอง

                   
ทำไมสังคมไทยจำเป็นต้องมีภิกษุณี
                     ลองมาสมมุติภาพเอาว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากผู้หญิงไทยสามารถบวชได้ถูกต้องตามกฎหมาย (ภิกษุณี)ได้รับการยอมรับจากสังคม พวกท่านมีสำนักหรือวัดของท่านเองที่รัฐบาลและสาธารณชนให้การเกื้อหนุนในด้านการศึกษาและปัจจัยอื่น ๆ 
                     สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ สำหรับผู้หญิงสาวยากจนในชนบทนี้จะเป็นทางเลือกที่ดีมากทางหนึ่งในชีวิตพวกเขา เพื่อจะทำให้พ่อแม่มีความสุข พวกเขาสามารถเลือกหนทางนี้นอกเหนือไปจากการเลือกเป็นเมีย เป็นแม่ เป็นสาวโรงงาน หรือเป็นโสเภณีเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว พวกเขาจะเห็นว่าชีวิตนักบวชทำให้ได้ทำประโยชน์ให้ครอบครัวและชุมชน ผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรง เช่น ความรุนแรงจากครอบครัว หรือถูกข่มขืน จะมีที่พึ่งทางใจ(นักบวชสตรี)ที่สามารถปรึกษาหารือขอความช่วยเหลือได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากพระสงฆ์ หากผู้ชายสามารถก้มลงกราบผู้หญิงและนับถือว่าเป็นผู้นำจิตวิญญาณของตนได้แล้ว บางทีอาจจะทำให้พวกเขาเห็นว่าเพศหญิงมิใช่เป็นแค่วัตถุทางเพศ หรือเป็นแค่แม่และเมียที่คอยทำงานบ้านและเลี้ยงลูกเท่านั้น
             
                    
เราจะสร้างภาพสมมุตินี้ให้เป็นจริงได้อย่างไร
                     การทำงานพัฒนาศักยภาพแม่ชี การสร้างความตระหนักในหมู่สาธารณชนและองค์กรพัฒนาสตรีถึงความสำคัญของแม่ชี ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างขบวนการสังคมเพื่อผลักดันให้เกิดการบวชภิกษุณีขึ้นในเมืองไทยได้ เพราะว่ากลุ่มที่มีอำนาจอยู่ในมือมากที่สุดในสถาบันศาสนาคือกลุ่มพระสงฆ์ การพูดว่าความล้มเหลวของศาสนาพุทธในเมืองไทยเป็นผลมาจากการควบคุมของรัฐ ความอ่อนแอของคณะสงฆ์ และบริโภคนิยมนั้น ยังไม่ใช่การมองอย่างรอบด้าน เรื่องอื้อฉาวของธรรมกายที่จนป่านนี้ก็ยังไม่ลงตัวนั้นก่อให้เกิดขบวนการเล็ก ๆ ของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน พระสงฆ์และนักวิชาการที่ร่วมกันทำงานเพื่อผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูพระศาสนา โดยวิธีการหนึ่งคือการปฏิรูปพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ โดยเชื่อกันว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นสาเหตุหลักของการทำผิดในวงการพระศาสนา 
                    ผู้เขียนเห็นว่าการทำเรื่องนี้รวมถึงวิธีการอื่น ๆ ยังไม่เพียงพอที่จะเยียวยารักษาและฟื้นฟูพุทธศาสนาในเมืองไทยให้มีคุณค่าและความหมายอย่างแท้จริงได้ 
เราทราบกันดีว่าพระสงฆ์และวัดนั้นอยู่ไม่ได้หากขาดการสนับสนุนจากชุมชน และแต่ไหนแต่ไรมาผู้หญิงเป็นกลุ่มหลักที่ให้การสนับสนุนวัดและพระตลอดมา หากขบวนการฟื้นฟูศาสนาในบ้านเราผนวกเอาการบวชภิกษุณีเข้ามาเป็นกลยุทธหนึ่งในการทำงานแล้วล่ะก็ ขบวนการนี้จะไม่ต้องออกแรงมากเท่ากับการไปมุ่งทำงานกับพระสงฆ์เพียงกลุ่มเดียว 
                    ขบวนการฟื้นฟูการบวชภิกษุณีในประเทศศรีลังกา (ปี ๒๕๔๐) ซึ่งเป็นพุทธแบบเถรวาทเช่นเดียวกับบ้านเรานั้น สามารถทำได้สำเร็จเพราะส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนผลักดันจากพระผู้ใหญ่ เราต้องไม่ลืมว่าในระบบผูกขาดอำนาจนั้น การพยายามเปลี่ยนแปลงผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจแต่ฝ่ายเดียวนั้นไม่เพียงพอ ขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมใด ๆ ก็ตามจำเป็นต้องเสาะหา หรือสร้างทางเลือกใหม่ในสังคมควบคู่ไปกับการเยียวยาจุดบกพร่องที่มีอยู่ภายในระบบ บางครั้งการทุ่มกำลังไปที่การสร้างทางเลือกใหม่อาจจะคุ้ม และให้ผลตอบแทนดีกว่าการใช้ทรัพยากรและพลังอันน้อยนิด เพื่อพยายามเยียวยาระบบที่เสียหายมากมายจนซ่อมแซมแทบไม่ได้ ยกตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ากลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่มชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จในการลดใช้สารเคมีในงานเกษตรกรรมที่ผ่านมาสิบกว่าปีนั้น ไม่ได้ทุ่มกำลังไปที่การหยุดรัฐบาลหรือบริษัทเอกชนที่ส่งเสริมให้เกษตกรใช้สารเคมี งานหลักที่พวกท่านทำมาตลอดคือการสร้างหรือสนับสนุนทางเลือกใหม่ ๆ ให้มาแข่งขันกับกระแสหลัก
                     ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะให้พระสงฆ์ (โดยเฉพาะพระผู้ใหญ่ที่มีอำนาจมาก) คิดหรือแม้แต่จะพูดในที่สาธารณชนเรื่องการบวชภิกษุณี ข้ออ้างหลักที่พูดกันเสมอมาคือ บ้านเราไม่เคยมีธรรมเนียมนี้มาก่อน แต่หากเรามองไปรอบ ๆ ในสังคมไทยปัจจุบันเราจะพบว่า มีร้อยพันสิ่งที่ไม่เคยมีในสังคมไทยมาก่อน คำสอนสำคัญยิ่งประการหนึ่งของพระพุทธเจ้าคือ ความไม่เที่ยงอันหมายถึงว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเปลี่ยนไปตามเหตุและปัจจัยอยู่เสมอ เมื่อสังคมเรามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย เป็นไปได้ว่าพุทธศาสนาจะไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้และทำหน้าที่เผยแผ่สาระสำคัญที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้ หากไม่มีขบวนการที่จะทำให้พุทธศาสนาเปลี่ยนรูปแบบตัวเอง ให้มีความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมปัจจุบัน ขบวนการที่ว่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพระสงฆ์ นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ชายเสียส่วนใหญ่ตระหนักถึงการผูกขาดอำนาจของตนเอง และเต็มใจที่จะแบ่งปันอำนาจนี้โดยการผนวกผู้หญิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการฟื้นฟูพระศาสนา

                    
*ผู้เขียนเป็นกรรมการบริหารพุทธศาสนิกสัมพันธ์นานาชาติ เป็นนักฝึกอบรมด้านการสร้างสรรค์ชุมชน
กลับหน้า   ข่าวล่า

 วัตรทรงธรรมกัลยาณี เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม ต. พระประโทน อ. เมืองฯ จ. นครปฐม 73000
โทร. (034) 258-270 โทรสาร (034) 284-315   E- mail : [email protected]
Copyright (c) 2002-2003 Thaibhikkhunis.org  All rights reserved.