ในที่สุด สงครามอิรักก็ถูกประกาศขึ้น พร้อมกับความรุนแรงและการทำลายล้างชีวิตอย่าง ชอบธรรม แม้ประธานาธิบดีของสหรัฐได้ออกมาแสดงวาทะว่า การกระทำครั้งนี้เป็นการเข้าไปปลดอาวุธในอิรักอย่างเด็ดขาดก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็คือ สงครามอยู่นั่นเอง การใช้กำลังทหารเพื่อรุกรานรัฐบางรัฐนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลี (1950) สงครามอิรักบุกคูเวต (1990) หรือสงครามโคโซโว (1999) ล้วนแต่มีผู้ชายเป็นผู้ตัดสินใจ เป็นผู้สร้างกฎกติกาและเหตุผลหรือวาทกรรมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่สงคราม ทั้งฝ่ายมหาอำนาจของโลกที่เป็นผู้บุก และฝ่ายที่ถูกปราบปราม ผู้ชายจึงเป็นผู้คิดและผู้ทำสงคราม แต่ผู้ที่ต้องรับเอาผลของสงคราม ความสูญเสีย ความพินาศ ความตกต่ำของจิตวิญญาณ ก็คือ ผู้หญิงและเด็ก ซึ่งเป็น เหยื่อ ของสงครามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งในฐานะที่ผู้หญิงและเด็กต้องเป็นฝ่ายดูแลเยียวยาผู้ป่วยหรือผู้ที่รอดสงคราม เป็นฝ่ายที่ต้องควบคุมจัดการความเป็นอยู่ของครอบครัวให้อยู่รอดในภาวะที่แสนลำบากอัตคัต เป็นฝ่ายที่ต้องบำบัดสมาชิกในครอบครัวให้หลุดพ้นจากประสบการณ์อันเจ็บปวด เป็นฝ่ายที่ต้องสูญเสียคนรักให้กับความโหดร้าย และที่หนักหนาไปกว่านั้น คือเป็นฝ่ายที่ต้องทนทุกข์ทรมาณกับความป่าเถื่อนของผู้ชายที่บุกรุกซึ่งใช้เครื่องมือของการ ข่มขืน ขยายความรุนแรงของสงคราม ดังที่ปรากฏในกรณีของโคโซโว และกรณีรัฐฉานในพม่า ผู้หญิงทั่วทั้งโลกนี้จึงไม่อยากเห็นสงคราม และไม่สนใจว่า การทำสงครามอิรักครั้งนี้ จะเป็นไปภายใต้ข้ออ้างของการนำ เสรีภาพ และประชาธิปไตย คืนกลับให้อิรักหรือไม่ก็ตาม เพราะแม้แต่อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่สหรัฐยกมาอ้างนั้น ได้ถูกทำให้เหลือเพียงมิติเดียว มาตรฐานเดียวไปหมด การเรียกร้องสันติภาพของโลกจึงเป็นไปได้ยาก เพราะผู้ชายซึ่งเป็นผู้ก่อสงคราม มีธรรมชาติของการแยกตัวออกห่าง (detachment) และมีหลักแห่งความยุติธรรมเป็นกฎทางจริยธรรม (ethic of justice) ในขณะที่ธรรมชาติของผู้หญิงจะมีลักษณะของการลู่เข้าหา (attachment) การรอมชอม และจริยธรรมของความเอื้ออาทร (ethic of care) เราจึงได้เห็นประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศสงครามด้วยหลักเหตุผลของการทำหน้าที่รักษากฎเกณฑ์แห่งความเป็นธรรมของโลก และยืนยันในความถูกต้อง (ที่อ้างว่าอยู่ภายใต้กรอบของสหประชาชาติ) รวมทั้งการรับปากกับชาวอเมริกันว่า จะนำสันติภาพกลับคืนสู่โลก และนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับพลเรือนมอบให้แก่อิรัก แต่จะเชื่อได้อย่างไรว่า สิ่งที่สหรัฐสัญญาว่าจะมอบให้แก่ชาวโลกและอิรักนั้น เป็น สันติภาพ อย่างแท้จริง เพราะเป็นการสร้างจากกฎกติกาของผู้ที่อยู่เหนือกว่าเสมอในโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจระดับโลก ความรุนแรงจากสงครามอิรักครั้งนี้ จึงมาจากฐานแห่งจิตใจที่ถูกขัดเกลาหล่อเลี้ยงไว้ด้วยค่านิยมของความรุนแรงและอำนาจ ที่ต้องการขจัดคนที่คิดไม่เหมือนตน ซึ่งมีสื่อมวลชนบางคนเปรียบเปรยว่า เป็นการฆ่าตัดตอนระดับโลก เมื่อธรรมชาติและวิธีคิดแบบผู้ชาย หรือ หยาง คือตัวก่อสงคราม วิธีที่จะยุติสงคราม ก็คือ การนำเอาสิ่งที่เป็นองค์ประกอบอีกด้านหนึ่งคือ หยิน เข้ามาประกบ เพื่อนำโลกนี้คืนสู่สมดุลของธรรมชาติ เช่นเดียวกับการดับไฟที่แผดเผาด้วยน้ำ ไม่ใช่ดับไฟด้วยไฟ หยินในที่นี้จึงเป็นพลังธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในวิธีคิดแบบผู้หญิง ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องผูกติดกับเพศสรีระ ผู้ชายก็คิดอย่างหยินได้ หรือถ้าจะกล่าวก็คือ ทั้งหญิงและชายต่างก็มีพลังธรรมชาติของทั้งหยินและหยางอยู่ในตัว เพียงแต่ว่ามนุษย์เราไม่ค่อยจะได้รักษาดุลยภาพขององค์ประกอบนี้เท่าไรนัก อันเป็นผลมาจากค่านิยมที่เน้นการแยกแยะหรือขีดเส้นแบ่งความเป็นหญิง-ชายอย่างชัดเจนเกินไปนั่นเอง การยุติสงครามด้วยวิธีคิดแบบหยิน ปรากฏผ่านการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสันติภาพที่เป็นไปอย่างสงบ แต่ทุกครั้งล้วนแต่ก่อให้เกิด พลัง แห่งความเอื้ออาทรที่สามารถสัมผัสได้ผ่านจิตใจ เช่น ภาพของผู้หญิงชาวญี่ปุ่น ที่มายืนตั้งแถวประท้วงสงครามเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งหลายคนอุ้มลูกไว้แนบอกพร้อมกับชูป้ายว่า I Love Peace ที่เกาหลีใต้ ผู้หญิงแต่งชุดไว้ทุกข์นั่งร้องไห้เป็นกลุ่มเพื่อแสดงถึงความสูญเสียและความเจ็บปวดของ แม่ ที่ฮ่องกงและหลายประเทศทั่วโลก ผู้หญิงได้ร่วมกันแต่งชุดขาว จุดเทียนรำลึกถึงสันติภาพ เมื่อวันสตรีสากลที่ 8 มีนาคม ผู้หญิงสวีเดนเรียกร้องให้ช่วยกันประท้วงสามีซึ่งสนับสนุนสงครามด้วยการปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองที่นิยมความรุนแรง และในประเทศไทย กลุ่มศิลปินหญิงและนางแบบได้ร่วมกันเดินต่อต้านสงครามด้วยเสื้อผ้าที่ตกแต่งด้วยคำว่า No War ที่บริเวณสยามสแควร์ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาด้วย วิธีการทั้งหมดเหล่านี้เป็นการนำเอาพลัง หยิน ออกมาทำให้เป็นพลังเชิงบวกเพื่อช่วยกันยับยั้งสงคราม อย่างไรก็ตาม พลัง หยิน ไม่ได้ปรากฏเฉพาะเมื่อต้องการเรียกร้องให้ยุติสงครามเท่านั้น แต่พลัง หยิน ควรเป็นสิ่งที่ผลักดันผู้หญิงทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแม่หรือไม่ก็ตาม ให้เป็นผู้ที่สามารถถ่ายทอดความรัก และความเมตตา รวมทั้งปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งการให้อภัยไปให้แก่ลูกชาย หรือเด็กผู้ชายทุกคน เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นมาด้วยความรักที่พร้อมจะเผื่อแผ่ไปถึงทุกคน นางศรี มาตา อมริตนันดามัย หญิงชาวบ้านที่อินเดียผู้ซึ่งได้รับรางวัลสตรีผู้นำทางศาสนาและจิตวิญญาณของโลกในฐานะของผู้สร้างสันติภาพ ได้กล่าวไว้เมื่อตอนไปรับรางวัลที่เจนีวา เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาว่า ด้วยพลังของผู้หญิงและความเป็นแม่ จะช่วยเปลี่ยนความเกลียดชังและความรุนแรงที่ปกคลุมมวลมนุษยชาติ ให้กลายเป็นความรัก แทนที่อคติด้วยความเข้าใจ แทนที่ความอาฆาตแค้นด้วยการให้อภัย และการพูดกันด้วยภาษาแห่งรักจากจิตวิญญาณของทุกคน...
พลังและวิธีคิดแบบหยินไม่ใช่เรื่องนามธรรมที่พูดผ่านกันไปลอยๆ
แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏได้เชิงรูปธรรม
ดังที่ธัมมนันทาภิกขุนี
พระภิกษุณีของเมืองไทยได้แนะนำว่า
ชาวพุทธสามารถนำพลัง หยินออกมาใช้ได้ด้วยการรักษาจิตใจให้บริสุทธิ์
ไม่มีอกุศล
และทำสมาธินึกถึงคนที่เรารักที่สุด
ห่วงที่สุด
แล้วเผื่อแผ่ความรู้สึกเช่นเดียวกันนี้ไปสู่เพื่อนร่วมโลกที่กำลังอยู่ในสงคราม
โดยเฉพาะให้ผู้ที่มีบทบาทตัดสินใจก่อสงคราม
ได้สัมผัสกับความห่วงใยนี้ด้วยเพื่อกระตุ้นเตือนมโนสำนึกของความรักและเมตตา
ที่สำคัญก็คือ
ทุกศาสนาต่างสอนให้ยุติความขัดแย้งด้วยความรัก
และสอนให้เรารู้จักเผื่อแผ่ความรักนี้ให้ศัตรูของเราด้วย. |
กลับหน้า ข่าวล่า |
|
วัตรทรงธรรมกัลยาณี
เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม
ต. พระประโทน
อ. เมืองฯ จ. นครปฐม
73000 |