หน้าแรก arrow บทความ arrow เมื่อต้นกล้าศรัทธาเริ่มหยั่งราก
เมื่อต้นกล้าศรัทธาเริ่มหยั่งราก Print E-mail

แว่นขยายธรรม

      ปีนี้เป็นปีที่ ๓ ที่แว่นขยายได้มีโอกาสร่วมงานกฐินซึ่งถือปฏิบัติติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยหลวงย่าจนเป็นประเพณีของวัตรเรา ในปีแรกมัวตื่นตาตื่นใจกับกิจกรรมการเรียนการสอนตลอดจนทัศนศึกษาที่หลวงแม่จัดให้กลุ่มภิกษุณี แม่ชี และอุบาสิกา ๖ ชาติ กว่า ๓๐ ชีวิต ดังนั้นงานกฐินก็กลายเป็นงานเรียนรู้ใหม่ทั้งสิ้น เพราะตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานกฐินมาก่อนเลย จึงไม่ทันได้ส่องพิจารณาบรรยากาศความศรัทธาของญาติโยมที่มาในงานเท่าไร รู้แต่ว่าได้ความรู้และความสนุกมากๆ  ปีนั้นวัตรมีค่าใช้จ่ายกว่า ๕ แสนบาท หลวงแม่ทุ่มเทให้ทั้งแรงกาย แรงใจ แรงสติปัญญา และแรงเงิน เพื่อให้บรรดาสตรีชาวพุทธได้มีความรู้ที่ถูกต้องจริงๆ หลักสูตรจึงเป็นภาษาอังกฤษเสียส่วนใหญ่ ภาษาไทยบ้าง และมีล่ามแปลภาษาเขมร แว่นขยายขอโมทนาสาธุค่ะ พอเข้าปีที่ ๒ ...

แว่นขยายเริ่มเข้าใจภาพรวมของงานชัดเจนขึ้นจากประสบการณ์ปีที่ ๑ มีความรู้จักมักคุ้นกับญาติโยมมากขึ้นทั้งที่มาช่วยทำงานวัตรระหว่างวันหยุด มาทำบุญ มาร่วมถวายกองทาน และมาร่วมอบรมพุทธสาวิกา จึงไม่รอช้าส่องเลนส์ไปแต่ละจุดจับจ้องนับตั้งแต่เริ่มเตรียมงานกันเลยทีเดียว ปี ๒๕๔๘ เป็นปีที่วัตรเริ่มสร้างพระวิหารและพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุฯ ซึ่งต้องใช้ปัจจัยในการก่อสร้างอีกเป็นจำนวนมาก หลวงแม่จึงไม่ได้จัดการอบรมให้ชาวต่างประเทศแต่ยังคงจัดให้สตรีไทยอยู่ หลวงแม่ยังคงทุ่มเทสอนให้อย่างไม่ปิดบังเหมือนเดิม ครั้งนี้หลักสูตรเป็นภาษาไทย บรรยากาศการเรียนการสอนมีความสุขสนุกสนานมาก มีวิชาใหม่เพิ่มขึ้นคือการเขียนบาลีด้วยอักษรโรมัน (Pali Romanization) การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพใช้งบประมาณน้อย ดังนั้นจึงมีงบประมาณเจียดมาเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงวัตรบางส่วน เช่น อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าตากสินจากถ้ำที่รั่วซึมหน้าเรือนคุณยายไปประทับที่พระวิหารสร้างใหม่ในเขตพุทธาวาสแทน ซึ่งเหมาะสมดูดีเชียวค่ะ งานนี้หลวงแม่ไม่ได้บอกบุญลูกหลานบอกกล่าวเฉพาะในที่ประชุมกรรมการวัตร ดร.วิลาสินีเป็นผู้สมทบร่วมสร้างเป็นคนแรกทันที ๓,๐๐๐ บาท โมทนาค่ะ นับเป็นการเตรียมวัตรในทางกายภาพเพื่องานกฐินงานหนึ่ง ต่อมามีงานเริ่มสร้างพระวิหารพระไภษัชยคุรุฯ ตามด้วยงานเททองหล่อพระไภษัชยคุรุฯ แล้วอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พระวิหารวันที่ ๕ ต.ค. ๔๘ ต่อมาก็มีการทำพิธียกฉัตรบนโบสถ์ชั้น ๓ ซึ่งเป็นวันดีที่สุดของปีนั้นด้วยค่ะ การอบรมพุทธสาวิกาก็ยังคงจัดทุกวันหยุดยาวเช่นเคยด้วยหลักสูตรเดิม ในแง่ของกลุ่มญาติโยมที่เข้ามาช่วยเตรียมงานที่ประทับใจคนวัตรมากๆ เห็นจะไม่มีใครเกินวันดี วรรณวนิดาที่เข้ามารักษาศีล ๑ เดือน เธออยู่ตรงไหนงานราบเรียบร้อยเป็นหน้ากลองเลยค่ะ ตั้งแต่จัดขัดล้างเช็ดถูทั้งสถานที่และช้อน ส้อม มีด ทัพพีทองเหลือง เมื่อใกล้วันงานกฐินทีมนายพล อันมีพลโทธวัชชัย พลตรีหญิงวัธนี พันเอกหญิงวิมล (ขณะนั้น)  และพี่บ๊วย มาประดับธงชาติ ธงพุทธศาสนาจากศรีลังกา ธงมนต์จากธิเบต และธงพระมหากษัตริย์สีเหลือง คุณติ๊ก (เนาวรัตน์) ก็จับจีบโบว์ด้วยผ้าป่านสีเหลืองตามแนวกำแพงแก้วทำให้สวยงามยิ่งขึ้น  ดังนั้นตอนสวดธชัคคสูตร (พระสูตรเกี่ยวกับธงแม่ทัพที่สร้างความกล้าหาญในธรรม) ก็สวดกันอย่างมีชีวิตชีวาเข้มแข็งฮึกเหิมจริงๆ เพิ่งเข้าใจความหมาย ความสำคัญ และเห็นความงามของการประดับธงก็ปีนี้เองค่ะ

      ร้านสะพานบุญมีซุ้มสอยดาวสีสันสดใสส่งเสียงระทึกใจยิ่งนัก ส่วนเสื้อผ้าจำนวนมากมายจนเป็นที่หนักใจของชาววัตรด้วยไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรให้ดูดี ตกเย็นฟ้าก็ส่งนางฟ้ามา ๒ นางคือเข็มและเพื่อนที่มีประสบการณ์การขายเสื้อผ้ามือสอง ช่วยกันจำลองใบหยกพลาซ่ามาที่วัตรมีคุณศุภฤกษ์เป็นหลักในเรื่องของหนักๆ เสร็จเที่ยงคืนพอดี ซินเดอเรลล่าจึงปลอดภัย พอวันงานจริง ๒๓ ต.ค. ๔๘ ญาติโยมที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงย่าและหลวงแม่ก็ทยอยกันมามากมายไม่ขาดสายจนที่จอดรถเต็ม บางท่านมาตั้งแต่พิธีถวายกองทานทุกวันพระและวันอาทิตย์ สำหรับวันปิยะได้อัญเชิญสมเด็จพระปิยะมหาราชเป็นประธาน แว่นขยายแลเห็นศรัทธาของญาติโยมขณะนั้นเป็นศรัทธาต่อหลวงแม่ในฐานะ ดร.ฉัตรสุมาลย์มากกว่าธัมมนันทาภิกษุณี และศรัทธานั้นก็แผ่ซ่านไปยังสังฆะคือหมู่คณะสงฆ์น้อยมาก ประมาณ ๑ ใน ๓ เมื่อมาส่งซองปัจจัย ได้กราบหลวงแม่แล้วก็กลับเลย ของที่ระลึกที่เตรียมไว้เหลือต้องยกกลับไปเก็บเกือบครึ่งหนึ่ง ปีนั้นแจกหนังสือ ๓ เล่ม ที่พิเศษของปี ๔๘ คือท่านสว.สุนีย์นำประเพณีที่วัดต่างจังหวัดทำกันคือนิมนต์ให้หลวงแม่ฉลองบาตรใหม่ หลวงแม่เลยได้บิณฑบาตก่อนฉันเพล
ใกล้เข้าพรรษาปีที่ ๓ มีผู้มาแจ้งความประสงค์ที่จะใช้ชีวิตชาววัตรช่วงเข้าพรรษาหลายท่าน ท้ายที่สุดได้อยู่ร่วมกันจริงๆ มี ๔ ท่านคือ แม่ขาวจิณพัศ ซึ่งหลวงแม่ให้รับศีล ๑๐ เนื่องจากเธอมีความตั้งใจจะบรรพชาเป็นสามเณรี สาธุค่ะ เธอเป็นกำลังสำคัญในเรื่องการปรับเปลี่ยนโต๊ะตำแหน่งวางพระทั้งสามชั้นเลยค่ะ ช่วยให้หลวงแม่มีผู้ช่วยมองหลายมุมขึ้น เพราะทุกคนช่วยกันมาองและออกความเห็นจริงๆ อีกท่านคือคุณอัญชนาซึ่งเห็นว่าประสบการณ์วิถีชีวิตทางโลกของเธอมีพอสมควรแล้วอยากจะสัมผัสวิถีชีวิตนักบวชบ้าง จึงลาออกจากงานที่ประเทศจีนมาท่ามกลางการคัดค้านของเจ้านายด้วยไม่อยากสูญเสียคนทำงานมีคุณภาพไป แว่นขยายและทุกคนที่วัตรก็เห็นด้วยว่าเธอเป็นคนที่มีคุณภาพจริงๆ เพราะอัญชนาหยิบจับงานอะไรขึ้นมาหลวงแม่วางใจได้เลยว่าจะเป็นระบบ สำเร็จรวดเร็วได้ดั่งใจทีเดียวค่ะ อีกท่านก็คือคุณสุทธิมนที่ใครๆ เรียกขานแต่ชื่อเล่นว่าหนุ่ยผู้มีจิตใจงดงามมองโลกในแง่ดี อึดอดทนแม้ร่างกายจะมีการประท้วงงานหนักแต่หนุ่ยไม่เคยยกมาเป็นข้ออ้างหลบเลี่ยงงานเลย แถมเธอยังบอกกับพี่น้องและผู้ที่ซักถามเกี่ยวกับความเป็นอยู่อีกว่า “หนุ่ยไม่เคยมีความสุขสบายอย่างนี้มาก่อนเลย” เป็นไปได้ยังไงลองพิจารณาจากเรื่องราวตอนอื่นๆ ในเล่มดูนะคะ ท่านสุดท้ายเป็นชาวมาเลเซียทำปริญญาเอกที่อเมริกาเลือกทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องภิกษุณี มาใช้ชีวิตร่วมกับนักบวชจริงๆ เพื่อเก็บข้อมูลทำงานวิจัย เธอกลมกลืนกับสังฆะมากเลยค่ะ ทั้ง ๔ ท่านนี่เป็นกำลังหลักของวัตรและทำให้หลวงแม่มีความสุขมากในพรรษานี้

      นับตั้งแต่เข้าพรรษามามีแต่เรื่องใหญ่ขนาดยักษ์ให้ทุกคนใช้สติปัญญาตลอด ประชากรวัตรอันมีอยู่น้อยนิดก็ยังโชคดีตรงที่มีกลุ่มพุทธสาวิการุ่นที่ ๔๕ ถึง ๔๗ ที่มีประสิทธิภาพมาช่วย รุ่นที่ได้อานิสงส์จากการช่วยงานวัตรอันแสนสาหัสคงไม่มีรุ่นใดเกินรุ่นที่ ๔๖ เพราะเป็นช่วงที่ซ่อมหลังคาโบสถ์เสร็จพอดี ต้องช่วยกันจัดทำความสะอาดอย่างขนานใหญ่ ไม่ง่ายเลยเพราะขึ้นไปวันแรกทุกคนกลับลงมาบอกว่าทำไม่ได้หรอก วันต่อมาหลวงแม่นำขึ้นไปรวมพลังสามัคคี “ทำ” แม้น้องพิมอายุน้อยที่สุดในรุ่น ๑๑ ขวบก็สร้างความอัศจรรย์ใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ว่า ทำอย่างนี้เป็นด้วยเหรอ พวกเขาจึงตั้งชื่อรุ่นว่า รุ่นสามัคคี “ทำ” โมทนาสาธุค่ะ จะขอเว้นไม่เล่าเรื่องที่เราถูกยึดโดยน้ำท่วมคืนวันปฏิรูปที่หลอมรวมใจทั้ง ๖ ดวงเป็นหนึ่งเดียวกัน เราสามารถเบิกบานบนความทุกข์ได้ เพราะเรื่องโดยละเอียดอยู่ในฉบับแล้วนะคะ

      พุทธสาวิการุ่นที่ ๔๕ – ๔๗ เป็นการออกแบบการอบรมให้สามารถนำไปใช้ได้จริง มีการปรับเปลี่ยนไม่ให้รูปแบบกิจกรรมซ้ำกัน ในรุ่นที่ ๔๗ มีกิจกรรมฝึกจิตอรหันต์ ทดสอบจิตที่ฝึกปรือด้วยว่าสติดีแค่ไหนเมื่อประสบภัย หลายคนชอบมากค่ะ และมีกิจกรรมภาวนาส่งต่อให้กัน โดยการทำตุงภาวนาสืบชะตา นับตั้งแต่นำเส้นด้ายมาภาวนาทำด้ายคู่ให้รุ่นต่อไปนำไปภาวนาพันแกนไม้เป็นตุง ๔ เหลี่ยม รุ่นต่อมาก็ทำตุง ๖ เหลี่ยม เรียกว่าฮิตจนเป็นฟีเวอร์กันทุกคนเลยค่ะ ตุงทุกอันที่แขวนประดับวัตรจึงอบอวลด้วยคลื่นมนต์ภาวนาที่ผู้ทำ ทำด้วยสมาธิอธิษฐานภาวนาสืบชะตาให้พ่อแม่พี่น้องตลอดจนผู้ที่มีความขัดแย้งกัน ให้มีความสุขความเจริญ มีสุขภาพแข็งแรง ให้อโหสิกรรมต่อกัน ฯลฯ งานนี้คุณวันดี อ่อนจำรัส ไปฝึกทำต่อจนเกิดความชำนาญค้นพบเทคนิควิธีทำให้ง่ายและสวยงามได้หลากหลายมากจึงมาช่วยหลวงพี่สอนรุ่น ๔๗ นอกจากนี้คนในแวดวงของเธอก็ได้รับอิทธิพลศรัทธาร่วมกันทำตุงเพื่อใช้ตกแต่งวัตร ตุงแต่ละชุดก็มีลีลางดงามแตกต่างกันแสดงให้เห็นว่าเมื่อจิตมีกุศลเป็นฐาน สมาธิในการทำงานก็ดี ความอดทนก็ล้นปรี่ ปัญญาได้ทีเปิดประตูความคิดสร้างสรรค์ ผู้ที่มาในงานคงจะสังเกตเห็นนะคะ ดูตุ้งติ้งที่ห้อยอยู่กับตุงใหญ่สิคะ ทำด้วยไม้จิ้มฟันน่ารักแต่ทำยากมากค่ะ ได้บำเพ็ญวิริยะบารมีกันค่ะ หลวงพี่ได้ขอให้เธอช่วยทำตุงขนาดเล็กเพื่อมอบเป็นของชำร่วยสำหรับผู้ที่มาร่วมงานกฐิน ๑๐๐ ชิ้น ซึ่งทางวัตรได้นำไปบูชาพระพุทธเจ้าเข้าพิธีสวดมนต์ปลุกเสก ปรากฏว่ามีญาติโยมมามากจึงไม่ได้รับทุกคน วันดีบอกว่าไม่รู้ว่าจะมีคนมากขนาดนี้เพราะสามารถทำได้มากกว่านี้ก็ได้ ขออภัยทุกท่านที่ไม่ได้รับมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ

      วันที่วันดีเอาการบ้านตุงชุดแรกมาส่งหลวงพี่ เธอบอกว่าตั้งแต่ทำตุงนี่หนูฝันร้ายทุกคืนเลย หลวงพี่ถามว่าภาวนาให้ใครบ้าง เธอบอกว่าให้ทุกคนเลย หลวงพี่ถามต่อไปว่าให้เทพที่รักษาตัว เทพที่รักษาบ้านหรือเปล่า วันดีว่าเปล่าค่ะ หลวงพี่จึงให้ไปนำที่กรวดน้ำมาสวดอุทิศส่วนกุศลให้เดี๋ยวนั้นเลย ไม่กี่วันต่อมาวันดีโทรมาหาหลวงพี่บอกว่า หลวงพี่คะตั้งแต่กรวดน้ำวันนั้นแล้วหนูไม่ฝันร้ายอีกเลย หนูสงสัยว่าเป็นไปได้หรือมีจริงๆ หรือ ไปถามพระภิกษุ ก็ไม่สามารถไขข้อข้องใจให้ได้ พูดกับทุกคนทุกวันจนเมื่อคืนนี้..มาเองเลยค่ะ ตายายที่อยู่ในศาลพระภูมิ มานั่งยิ้ม ตัวขาวเชียว หนูเลยหายสงสัยแล้วค่ะ ส่วนคุณสุทัศนีย์ คุณธารา และคุณสิริลักษณ์จากบ.มิวเซียมออฟเจคก็ได้นำการทำตุงไปเผยแพร่ให้เพื่อนๆ ร่วมกันทำและนำมามอบให้ก่อนวันงาน มีเรื่องมาเล่าให้ฟังว่ารุ่งขึ้นของวันปฏิรูปการปกครองบริษัทปิด คุณธารากับฝนได้ไปปฏิบัติบูชา ปิดวาจา ทำตุงภาวนาถวายวัตร เพื่อสืบชะตาและบูชาพระศาสนา นั่งทำที่หน้าพระบรมสารีริกธาตุในวิหารดอกบัวแก้ววัดสังฆทาน ด้วยความสงบเรียบร้อยเป็นที่สนใจของหลายคน แม้แต่พระก็นำพัดลมมาวางให้ แล้วก็ได้ถ่ายทอดวิธีการภาวนานี้พร้อมมอบตัวอย่างตุงให้แก่คุณน้องซึ่งจะนำไปสอนให้แก่แม่ชีอีกกว่า ๑๐๐ ท่าน โมทนาค่ะ ช่วยกันต่อสายบุญให้ยาวยิ่งขึ้นค่ะ แล้วก็ได้น้องอ้อม วรรณรัตน์ ปรียาโพรามเป็นผู้นำตุงทั้งหมดขึ้นประดับตกแต่งวัตรได้อย่างสวยงามมาก ในส่วนตัวเธอยังได้ทำซุ้มเกมยิงเป้า “กิเลส” เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้มางานโดยเฉพาะคุณผู้ชายหลายๆ ท่าน และทำให้ได้บรรยากาศงานวัดแบบดั้งเดิมมากขึ้น คุณวันชัยเมื่อยิงกิเลสได้ดีใจถึงกระโดดตัวลอยเหมือนเด็กเชียวค่ะ

      คุณวันดี วรรณวนิดาคนเก่งเจ้าเก่าก็มาช่วยสะสางก่อนงานเช่นเคย งานหนักๆ สกปรกเอา งานเบาๆ ก็ไม่เกี่ยง เธอช่วยจนเสร็จสิ้นงานพิธีเช่นเคย แรงงานบุญจากกลุ่มพุทธสาวิกาปีที่แล้วได้โทรไปขอแรงนัดหมายกันมาทำ แต่ปีนี้ไม่ได้โทรหาใครเลยแต่ที่เคยมาเป็นแรงหลักตั้งแต่ปีที่แล้วก็ยังมาช่วยอย่างน่าประทับใจคือคุณนุชนาถ (อึ่ง) ตรีโชติ กับคุณณัฐสมพล (ชาลี) ธีรกุลธนโชติ พี่ชาย คุณอึ่งนั้นมาช่วยเตรียมก่อนแล้ววันงานก็มาตั้งแต่ตี ๔ แน่ะ สำหรับซุ้มเสื้อผ้ามือสองได้คุณเก่งและน้องโยเป็นผู้จัดการร้าน มีคุณวาริศามาช่วยคัดแยกเกรดเสื้อผ้าพร้อมตั้งราคา จึงมีความเป็นระบบระเบียบน่าซื้อมากกว่าทุกๆ ปี ตัวเธอเองยังเหมาเอาเสื้อที่ไม่ค่อยดีเนื่องจากแช่น้ำท่วมไปบริจาคต่อเสียเองอีก ด้วยความคิดที่ว่าที่ดีๆ เอาไว้ขายต่อปีถัดไป ช่างมีความคิดที่มาจากฐานใจอันงดงามเสียนี่กระไร

      ซุ้มสอยดาวอันเป็นจุดเด่นและดึงดูดใจทุกเพศทุกวัยส่งเสียงปุ้งปั้งตลอดเวลากว่า ๒๐๐ลูกโป่ง อยู่ภายใต้การอำนวยการของอาจารย์มารดารัตน์และทีมงาน ร่วมกับซุ้มหนังสือลด ๕๐% ของอาจารย์มาริสาที่มี อ.พัชรีมาช่วยอีกแรงหนึ่ง ขายแข่งกับร้านทศพร ๑๐๐% น่าดูจริงๆ ปีที่แล้วว่าขายดีแล้วเชียวนา ปีนี้ยิ่งดีกว่าเสียอีก ฝีมือ+ฝีปากจริงๆ ค่ะ ซุ้ม CD ธรรมะจากแม่ ซึ่งเป็นสื่อใหม่ทั้งสนุกด้วยเรื่องสั้นๆ ๓ นาทีทันสมัยดูได้ทุกวัย มี ๒ แผ่นทั้งหมด ๓๐ ตอน มีให้ชมทางโทรศัพท์มือถือด้วยนะคะ น้องโยดูตัวอย่างแล้วรีบซื้อเป็นคนแรกเธอบอกว่าใช่เลย ชอบมาก ที่ซุ้มนี้ยังมีเครื่องใช้ทองเหลืองจำหน่ายด้วย มีคุณนันท์นภัส (ที่เธอบอกว่ามีคนจุดธูปให้เธอมาวัตร หาอ่านได้ในเล่มเช่นกันค่ะ) ดูแลพร้อมผู้ช่วยวัยรุ่นคือน้องมายด์และน้องคาเมลคอยวิ่งไปวิ่งมาระหว่างซุ้มยิงเป้ากิเลสกับซุ้ม CD โต๊ะข้าวของกุ๊กกิ๊กกิ๊ปเก๋ได้คุณวันดี คุณนุกและน้องพิมคนเก่งดูแลรับผิดชอบค่ะ

      กองทัพเดินได้ด้วยท้อง กองทัพธรรมครั้งนี้ก็ได้คุณลมูล คุณนงลักษณ์และคุณกาญจนากับลูกทีม ทุกอย่างหมดไม่เหลือ เหลือเชื่ออย่างเดียวคือคนทำครัวไม่ได้ทานอาหาร ปาท่องโก๋บุญยกกระทะมาจากพัทยาเลยทีเดียวนะคะ ไม่ใช่ธรรมดา ส่วนคุณเก่งกับน้องโยเป็นเจ้าภาพเหมาไอศกรีมทั้งรถมาเลี้ยงทุกคน แต่แว่นขยายไม่ได้ชิมเลยค่ะเสียดายจัง พิเศษจริงๆ อีกหนึ่งจุดเห็นจะเป็นทีมท่านนายพลตรีหญิงวัธนี ได้ขอให้คุณอี๊ดมาจัดดอกไม้แห้งให้ใหม่ทุกจุด สวยงามไม่มีที่ติจริงๆ ค่ะ ก่อนหน้านี้พลตรีหญิงวิมลและพี่บ๊วยมาค้างวัตรจัดห้องสมุดให้หายเศร้าโศกไปได้อย่างน่าชื่นชมค่ะ นอกจากนี้แล้วทีมบัญชีรับบริจาคก็ยังคงเป็นทีมประสิทธิภาพเยี่ยมทีมเดิม อันมีคุณเนาวรัตน์ (พี่ติ๊ก) คุณศุภฤกษ์ คุณอ้อย คุณเสาวลักษณ์  และคุณเขมวดี จากพสว. ทั้งนั้น

      เท่สุดเห็นจะไม่มีใครเกินซุ้มยาอธิษฐานที่มีคุณไพลิน จิรชัยสกุลและน้องเจรับหน้าที่แนะนำการดื่มยาอธิษฐาน “ยาดีไม่ได้อยู่ที่ปริมาณค่ะ” เธอบอกว่าอย่างนั้น ปีนี้ทุกคนจะได้ดื่มคนละถ้วยเล็กๆ (เรียกว่าเป๊กรึเปล่าไม่รู้นะ) เธอนำสวดพระคาถาพระไภษัชยฯ อธิษฐานให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ หากท่านใดประสงค์จะนำกลับไปฝากญาติพี่น้องก็มีบรรจุถุงเล็กๆ พร้อมรูปพระไภษัชยฯ + พระคาถาให้ไปสวดก่อนดื่มยาด้วย เรียกว่าให้ได้ประสิทธิผลเต็มที่แน่นอนค่ะ ทำให้ทุกคนได้ดื่มยาอธิษฐานกันอย่างถูกวิธีและทั่วถึงกว่าทุกปี และที่ทำให้ขบวนกฐินสมบูรณ์ที่สุดคือ ธงสัญลักษณ์แห่งความสามารถครองตนของคณะสงฆ์ให้รอดปลอดภัยจากเหล่ากิเลสมารทั้งหลาย อันได้แก่ กามราคะ โลภะ ซึ่งเป็นกิเลสหลักที่ทำให้นักบวชมีอันต้องถูกดูดกลับเข้าวงจรทางโลกย์ ท่านสุนีย์ อินฉัตร ประธานกฐินเป็นผู้นำมาค่ะ เมื่อเข้ามาในบริเวณงานทุกคนจะได้ยินเสียงหวานใสของประชาสัมพันธ์งานวัตร คือคุณวาริศา ชิตวิทยะ แนะนำจุดต่างๆ ของงาน เชื้อเชิญให้ซื้อดอกไม้ธูปเทียนไปกราบนมัสการหลวงพ่อเพชร แม่กวนอิม และสมเด็จพระเจ้าตากสิน และแนะนำวิธีการจุดธูปเทียนบูชาที่ถูกต้องเหมาะสม คนขายดอกไม้ธูปเทียนคือจินนี่ เธอเป็นนักศึกษาอเมริกันที่มาค้างวัตรแทนการเที่ยวในวันหยุดยาว สำหรับข้อมูลซุ้มร้านสะพานบุญของเธอเรียกลูกค้าให้ไม่อยากพลาดทุกจุดทีเดียวค่ะ เพราะเธอจะหยอดทิ้งท้ายชวนให้เข้าไปค้นหาคำตอบว่า มันเป็นยังไงน๊า…

       ที่แว่นขยายอุตส่าห์สาธยายมามากมายก็เพื่อให้ท่านเห็นภาพ และสัมผัสกับความตั้งใจ ความศรัทธาที่เรียงร้อยกันมาตลอดพรรษา ทุกคนลงความเห็นพ้องต้องกันว่าที่มาทั้งหมดก็เพื่อวันสำคัญแห่งปีของวัตรวันนี้นี่เอง ดังนั้นเมื่อวันที่ ๑๕ ต.ค. มาถึง ญาติโยมที่เข้ามาในงานแล้วส่วนใหญ่จะอยู่ร่วมจนเสร็จสิ้นพิธีการ ที่จอดรถเต็มทุกจุด ทั้งด้านหน้า ด้านใน ด้านหลังและถนนในวัตร ในที่สุดก็ล้นไปจอดที่ถนนหน้าวัตร ข้างวัตร แว่นขยายเห็นญาติโยมนำญาติผู้ใหญ่ของท่านมาด้วยมากมายหลายท่านเลยค่ะ แต่ละท่านมีสีหน้าท่าทางที่บอกให้รู้ว่าท่านมาด้วยความเต็มใจ ตั้งใจและศรัทธาฉาบอยู่บนใบหน้าแม้อากาศจะร้อน (เพราะฟ้าเปิดให้ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เกือบตลอดอาทิตย์ฝนตกอย่างหนักเพราะดีเปรสชั่น จนหลวงแม่ต้องนำชาววัตรถวายกุศลบูชาพระพิรุณเพื่อขอให้ท่านเว้นระยะฝนในวันงานกฐินจนถึง ๔ โมงเย็น ท่านก็ให้จริงแถมให้เราสามารถเก็บงานจนเรียบร้อยแล้วก็ตกอย่างหนักอีก กราบขอบคุณพระพิรุณจริงๆ ค่ะ) ท่านผู้ใหญ่เหล่านั้นก็ไม่ท้อถอย ลูกหลานบางคนมาแจ้งกับหลวงพี่ว่าจะให้ท่านนั่งฟังเสียงตามสายข้างล่าง เพราะท่านไม่สะดวกในการเดินขึ้นชั้นสาม แต่ปรากฏว่าแทบไม่มีท่านใดยอมนั่งอยู่ข้างล่างเลย เรียกว่าศรัทธาแก่กล้าจริงๆ แถมยังไปดูขบวนแห่ที่หน้าต่างพอขบวนโห่เสร็จ (คนแห่เกือบทั้งหมดช่วยกันโห่เป็นความพิเศษของวัตรผู้หญิงเท่านั้น ขออาสาสมัครโห่ ๑ คนแต่ได้ทั้งขบวนโดยไม่ต้องนัดหมาย) บรรดาผู้เฒ่าทั้งหลายก็ ฮิ้ว รับกันอยู่ข้างบนเป็นที่ปลื้มปีติแก่หลวงแม่เป็นยิ่งนัก เพราะท่านมีเพื่อน ฮิ้ว ไม่ได้ ฮิ้ว เพียงลำพังองค์เดียว น่ามหัศจรรย์ที่เมื่อได้ยินเสียง ฮิ้ว หัวใจทุกดวงเหมือนเป็นดวงเดียวกัน แว่นขยายรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ ไม่เชื่อคราวหน้ามาร้องรับ ฮิ้ว กันดูอีกทีนะคะ

      ปีนี้แว่นขยายส่องเห็นความศรัทธา เห็นสายตาที่มองภิกษุณี สามเณรี เป็นสายตาที่บอกได้ว่ามองเห็นพระเป็นพระจริงๆ แล้ว ไม่ได้มองเห็นพระเป็น ดร.ฉัตรสุมาลย์ หรือเห็นภิกษุณีธัมมนันทาแต่เพียงผู้เดียว การนบไหว้พระก็ด้วยความรู้สึกที่ไหว้พระเฉกเช่นเดียวกับพระภิกษุทั่วๆ ไป นับว่าต้นกล้าแห่งศรัทธาในภิกษุณีสงฆ์เริ่มหยั่งรากลงแผ่นดินไทยแล้ว เป็นความงดงามที่สร้างสานศรัทธาให้เกิดต่อเนื่องกันได้อย่างไม่สิ้นสุด เป็นการรดน้ำพรวนดินให้กำลังใจต้นกล้าภิกษุณีสังฆะเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป สาธุ สาธุ สาธุ

 

วัตรทรงธรรมกัลยาณี เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม ต. พระประโทน อ.เมืองฯ จ.นครปฐม 73000
โทร. (034)258-270 โทรสาร (034) 284-315 E-mail: [email protected]
Copyright (c) 2002-2006 Thai Bhikkhunis All rights reserved.


จำนวนผู้เข้าชม ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2549