BWR ทัศนศึกษาสะพานแม่น้ำแคว

      ในโครงการ BWR ( Buddhist Women in Residence ) ซึ่งทางวัตรทรงธรรมกัลยาณีได้จัดขึ้นในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการ ๓๐ คนจาก ๖ ประเทศ มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้กับผู้เข้าร่วมอบรมตลอดพรรษา หนึ่งในกิจกรรมนั้นคือ การทัศนศึกษา

   

  

     จุดประสงค์ของการไปทัศนศึกษาก็เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมดมีความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนามากขึ้น มีความเข้าใจศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีและประวัติศาสตร์ของชาวไทยและพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ทุกๆที่ที่ไปก็ได้รับความรู้ต่างกันไป ทัศนศึกษาครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ คณะของเราไปหลายแห่ง แต่สถานที่ที่ดิฉันประทับใจมากที่สุดคือ สะพานข้ามแม่น้ำแควและพิพิธภัณฑ์อักษะและเชลยศึก
      เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พศ.๒๕๔๗ คณะของเราได้เดินทางไปชมสะพานข้ามแม่น้ำแคว มีผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจกับคณะภิกษุณีด้วยสีจีวรที่แจ่มแจ๋วและหลากสี บางคนก็เข้ามาขอร่วมถ่ายรูปกับพวกเรา บางคนก็พยายามมายืนใกล้ๆแล้วให้เพื่อนถ่ายรูปให้ ขณะเดินข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแควนี้ดิฉันเห็นทางรถไฟบนสะพานแต่ไม่ทราบประวัติความเป็นมา
      ในที่สุดก่อนเดินทางกลับ หลวงแม่ได้พาคณะเราไปที่พิพิธภัณฑ์อักษะและเชลยศึกพร้อมกับคณะภิกษุณี และที่นี้ก็ทำให้ดิฉันได้ทราบเรื่องราวประวัติความเป็นมาของทางรถไฟบนสะพานข้ามแม่น้ำแคว
      เมื่อเห็นพิพิธภัณฑ์ครั้งแรก รู้สึกเหมือนที่นี้ยังคงมีสภาพเหมือนค่ายพักชั่วคราวจริงๆ เพราะวัสดุที่ใช้เป็นไม้ไผ่ทั้งหมด หลังคามุงจาก ด้านในยกพื้นขึ้น พื้นปูด้วยฟากไม้ไผ่ พอเดินเข้ามาดิฉันก็เห็นภาพเขียน ภาพถ่าย บทความเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟ ซึ่งเริ่มจากหนองปลาดุก จังหวัดราชบุรีผ่านเข้าสู่จังหวัดกาญจนบุรีและเข้าสู่ชายแดนประเทศพม่าที่อำเภอสังขละบุรีระยะทาง ๒๖๓ กิโลเมตรในเขตไทยและอีก ๑๕๒ กิโลเมตรในเขตประเทศพม่า รวมระยะทาง ๔๑๕ กิโลเมตร เส้นทางรถไฟ ๒ ตอนนี้ เริ่มสร้างทางเขตไทยเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พศ.๒๔๘๕ จนถึงเดือนพฤศจิกายน พศ.๒๔๘๖
      ประมาณการว่าควรจะใช้เวลา ๕ ปี แต่สะพานสายนี้สร้างเสร็จอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลา ๑๖ เดือน จะมีสักกี่คนที่ทราบว่ากว่าจะมาเป็นสะพานทางรถไฟให้พวกเราได้ใช้และชื่นชมกันจนถึงทุกวันนี้ได้เกิดอะไรขึ้นบ้าง มีการบันทึกว่ากองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์ชาวออสเตรเลีย อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ เกือบ ๓๐,๐๐๐ คนและคนงานท้องถิ่นจากประเทศจีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดียอีกเกือบ ๑๐๐,๐๐๐ คน ดังนั้นชื่อพิพิธภัณฑ์จึงตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เชลยศึกเหล่านั้นว่า JEATH มาจากอักษรย่อของคำว่า Japan ( J ) ในฐานะที่เป็นกองทัพควบคุมเชลยศึกสงครามสร้างทางรถไฟ , England (E) , Australia,America (A) , Thailand (T) และ Holland (H)
      ภาพทุกภาพแสดงความเป็นอยู่ของเชลยในขณะที่สร้างสะพาน       ภาพถ่ายเป็นภาพที่มาจากเหตุการณ์ครั้งสร้างทางรถไฟจริงๆ ที่ถ่ายไว้โดยคุณบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ และบางส่วนก็ถ่ายโดยเชลยศึกในสมัยนั้น
      ภาพบางภาพได้สร้างความสะเทือนใจ ความหดหู่ เศร้าใจให้กับดิฉัน ทำให้คิดได้ว่าความลำบาก ความไม่สบายกาย ความไม่สะบายใจที่ดิฉันเคยประสพมาคงไม่ได้ครึ่งหนึ่งของเฉลยศึกเหล่านี้ ดิฉันเคยคิดว่าชีวิตของดิฉันลำบาก ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ไม่ถูก ภาพที่จัดแสดงสามารถสื่อให้คนที่เข้ามาชมเห็น รู้สึกถึงความทุกข์ยาก ความอดอยาก ตามร่างกายของเฉลยศึกเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ใบหน้าสีหน้าบ่งบอกถึงความเศร้าหมอง ความทุกข์ที่ไม่สามารถระบายเป็นคำพูดได้ บางคนป่วยมากก็ยังถูกบังคับให้ทำงาน
      ถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีข้าวกิน ถึงจะมีข้าวกินก็แทบจะไม่มีกับข้าว พวกเขาคงได้แต่ฝันถึงเนื้อปลา เนื้อหมู ฯลฯ มีภาพแสดงการทรมานที่ทารุณ โหดร้าย เป็นการทรมานอย่างหนักด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำเหมือนเชลยเหล่านี้ไม่ใช่คน ไม่ใช่เพื่อนร่วมโลก บางคนถึงกับพิการ ขาขาด บางคนตามมือ ตามแขน เป็นแผลผุพอง มีวิธีการรักษาแผลคือใช้อวัยวะที่มีแผลแช่ลงในแม่น้ำให้ปลาตอด แทบจะไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์ ไม่มียา แม้กระทั่งการผ่าตัด ก็ยังมีแค่ผ้าปิดตาไม่ให้มองเห็นตอนที่ ผ่าตัด คนไข้ไม่มีสิทธิ์ได้รับการฉีดยาชา เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด ถ้าใครทนพิษบาดแผลไม่ไหวก็ตาย นี่หรือคือผลตอบแทนจากการทำงานอย่างหนักหามรุ่งหามค่ำ ข้าวของที่จะใช้ก็ไม่มี ไม่มีแม้กระทั่งผงซักฟอกจะซักผ้า บางคนไม่มีเสื้อผ้า มีแค่เศษผ้าชิ้นเล็กๆปิดอวัยวะเพศชิ้นเดียว
      เชลยศึกต้องสังเวยชีวิตให้กับการสร้างทางรถไฟนื้ ๑๖,๐๐๐ คน และคนงาน ท้องถิ่นจากประเทศต่างๆเกือบ ๑๐๐,๐๐๐ คน เพราะต้องผจญภัยกับไข้ป่านานาชนิด ต้องเผชิญกับความโหดร้ายของธรรมชาติป่าดงดิบ ความขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และการทำงานอย่างหนัก จนกระทั่งทางรถไฟสายนี้ถูกเปรียบเทียบไว้ว่า
 "ไม้หมอนแต่ละท่อนตลอดทางรถไฟสายนี้เท่ากับชีวิตของเชลยศึกและคนงานที่ต้องล้มตายลงจากการสร้างทางรถไฟนี้ทีเดียว ”
      หลังจากสร้างสะพานสำเร็จ ทางกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่นได้ฉลองสะพานและทางรถไฟสายนี้เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พศ.๒๔๘๖
      เมื่อเดินมาจนรอบ ตรงเกือบถึงปากทางออกจากพิพิธภัณฑ์ มีภาพๆหนึ่งที่ดิฉันชอบมากที่สุด คือภาพที่บรรดาเฉลยศึกได้รับอิสรภาพในวันที่ ๘ กันยายน พศ.๒๔๘๘ ในภาพนั้นดิฉันเห็นดวงตา ท่าทางรื่นเริงยินดีกับการได้รับการปลดปล่อย มีการดื่มฉลองกันอย่างสนุกสนาน
      จากการไปทัศนศึกษาในครั้งนี้ ทำให้ดิฉันได้รับความรู้จาก The JEATH war museum ทำให้ทราบเกี่ยวกับ เหตุการณ์การสร้างทางรถไฟสายมรณะจากกาญจนบุรี – พม่าในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้ดิฉันตระหนักถึงคุณค่าการมีชีวิตอยู่ ถึงแม้เหตุการณ์จะเลวร้ายขนาดไหน ถ้าเรายังมีความหวัง มีกำลังใจ มีความเข้มแข็ง เราก็จะสามารถผ่านพ้นช่วงเวลานั้นไปได้ เหมือนดั่งเชลยศึกที่สามารถฝ่าฟันความทุกข์ต่างๆจนถึงวันที่เขาได้รับอิสระภาพ อนุสรณ์สถานแห่งนี้ไม่ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อดำรงความเกลียดชังระหว่างมนุษยชาติให้คงอยู่ แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกจัดสร้างเพื่อเป็นบทเรียนแก่มนุษยชาติว่า “ สงครามได้ก่อให้เกิดความสูญเสียให้ทั้งฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะเท่ากัน ” แล้วทำไมเราไม่อยู่ด้วยกันด้วยความสงบ สันติ ดิฉันได้แต่หวังว่า ขออย่าให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกเลย

      สุขอื่น ยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี