สตรี ศาสนา และความเสมอภาคในยุคโลกาภิวัตน์

      ดร.วิลาสินี พิพิธกุล 

      จะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม เราทุกคนต่างกำลังว่ายวนอยู่ในคลื่นวัฒนธรรมแห่งยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งเต็มไปด้วยความฉาบฉวย วูบวาบ รวดเร็ว การบูชาข้อมูลข่าวสารในฐานะเครื่องมือแห่งอำนาจและทุน การบริโภคที่ไร้ขอบเขตจำกัด และการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบไร้พรมแดน อันนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ในโลกเสมือนจริง มากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง ทั้งหมดนี้คือคุณลักษณะของสังคมแบบโลกาภิวัตน์ ที่ฉาบหน้าไว้ด้วยความเท่าเทียมกันของมวลมนุษยชาติในฐานะสมาชิกแห่งหมู่บ้านโลกเดียวกัน แต่เราท่านต่างรู้ดีว่ายิ่งพัฒนาเข้าสู่โลกาภิวัตน์มากเท่าไร ความมั่งคั่งทางทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม-ศีลธรรมของไทย ก็จะยิ่งถูกดูดกลืนเข้าสู่แกนกลางของโลกที่มีจักรวรรดินิยมตะวันตกครอบครองอยู่มากเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางแรงเหวี่ยงของโลกาภิวัตน์ ได้เกิดกระแสโต้กลับจากชุมชนต่างๆ ที่ถวิลหาความสงบสุข สันติภาพ การคืนกลับสู่ธรรมชาติ และเรื่องของจิตวิญญาณมากขึ้น กระแสโต้กลับนี้ได้เปิดทางให้แก่บทบาทของผู้หญิงในฐานะที่เคยดำรงสถานะแห่งความเป็น 'แม่ของจักรวาล' หรือบทบาทของผู้หญิงในการดูแลปกป้องธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หญิงมีศักยภาพมาช้านาน แต่ได้ถูกละเลยไปเมื่อสังคมถูกชักนำด้วยเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบด้านเดียว การเสริมพลังและนำคุณค่าดั้งเดิมกลับสู่ผู้หญิงจึงเป็นความเคลื่อนไหวแบบใหม่ที่กลุ่มนักสร้างสรรค์สันติภาพ ผู้นำศาสนาและจิตวิญญาณ รวมทั้งนักสตรีนิยม กำลังให้ความสนใจและจัดให้เป็นวาระหลักของสังคม

      การมาพบปะกันของผู้แทนด้านศาสนาและด้านสตรีจากนานาประเทศที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคมที่ผ่านมานี้ ก็เป็นการเคลื่อนไหวอีกวาระหนึ่งของความพยายามที่จะนำ ศาสนากับผู้หญิงมาเชื่อมโยงกันในฐานะที่ต่างฝ่ายต่างก็ถูกพิษสงของทุนนิยมแบบโลกาภิวัตน์เล่นงานจนบอบช้ำ ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก จำนวนประมาณ 45 คน ได้มาช่วยกันระดมสมองเพื่อชี้ถึงปัญหาที่ดำรงอยู่ และเสนอแนะแนวทางแห่งการยุติหรือผ่อนคลายความรุนแรงของปัญหาโดยอาศัยศาสนาเป็นกลไกหลักของการแก้ปัญหา

      การสัมมนาครั้งนี้มีหลวงแม่ภิกษุณีธัมมนันทาในฐานะกรรมการศานติสภา (Peace Council) เป็นเจ้าภาพฝ่ายไทย โดยมีคุณอวยพร เขื่อนแก้ว แห่งโครงการความร่วมมือของผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรมเป็นผู้ร่วมจัดที่เชียงใหม่ และมีองค์กรสนับสนุนสององค์กร คือศานติสภา และศูนย์เพื่อสุขภาพและนโยบายสังคม จากสหรัฐอเมริกา บรรยากาศของการสัมมนาเต็มไปด้วยพลังแห่งการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ การแสดงความคิดเห็นเป็นไปอย่างหลากหลายแต่ลงตัว แม้ความคิดแบบแข็งกร้าวและสุดขั้วของเฟมินิสต์จากตะวันตกที่ยืนยันในโอกาสและสิทธิที่จะเลือกของสตรีจะปะทะกับความคิดแบบอนุรักษ์ (อ่อนๆ) ของนักการศาสนา (ชาย) บางคน แต่ในที่สุดประเด็นทั้งหมดก็ถูกผสมผสานและเชื่อมโยงกันจนออกมาเป็นคำประกาศแห่งวาระเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ Agenda for change เพื่อให้สมาชิกนำไปเคลื่อนไหวและขยายต่อในประเทศของตน

      ประเด็นแรกที่บรรจุไว้ในคำประกาศ เป็นเรื่องของผู้หญิงกับโลกาภิวัตน์ ซึ่งได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ทั้งในลักษณะที่เป็นปัญหาและเป็นโอกาส ในแง่ของปัญหา คำประกาศนี้ได้เจาะจงไปที่การทำให้เรือนร่างของผู้หญิงกลายเป็นสินค้า การล่อลวงและค้าผู้หญิง การที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของโรคเอดส์กว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยทั่วโลก ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงและเด็ก การข่มขืนผู้หญิงในภาวะสงคราม และการเอาเปรียบแรงงานหญิง คำประกาศนี้ได้เรียกร้องว่าศาสนาต้องทำให้โลกมองเห็นความจริงเหล่านี้ และเข้ามาเป็นกลไกของการแก้ปัญหา มิใช่ปฏิเสธและไม่ใส่ใจ ในขณะเดียวกันศาสนาและผู้หญิงต้องอาศัยโอกาสของกระแสโลกาภิวัตน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งการสื่อสารเพื่อที่จะขยายเครือข่ายความร่วมมือ และเผยแพร่แนวคิดทางศาสนาเพื่อช่วยกันลดชะตากรรมที่ผู้หญิงทั่วโลกเผชิญอยู่

      ในประเด็นที่สอง คำประกาศนี้ได้เน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับศาสนา ซึ่งมีทั้งปัญหาและโอกาสเช่นกัน แม้ศาสนาจะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงและแรงบันดาลใจสู่ความรักและเมตตา แต่ศาสนาก็ถูกระบุว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อความทุกข์ยากของผู้หญิงอยู่ไม่น้อย เช่น การทำให้ศาสนามีสถานะเป็นสถาบัน (คือมีโครงสร้างการบริหารจัดการเป็นลำดับชั้นและรวมศูนย์ซึ่งเกิดขึ้นในทุกศาสนาทั่วโลก) มีผลให้ผู้หญิงถูกกีดกันผลักไสออกจากโอกาสของการพัฒนาและการศึกษาทางศาสนา รวมทั้งการมีส่วนร่วมตัดสินใจ การเป็นผู้แทนของการเผยแผ่หลักศีลธรรม ยิ่งกว่านั้น การที่สถาบันศาสนานิ่งเฉยต่อปัญหาความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ และการถูกเอารัดเอาเปรียบของผู้หญิงถือเป็นการให้ความชอบธรรมกับการกระทำเหล่านี้ แต่ทว่าศาสนาก็สามารถทำให้สถานการณ์เหล่านี้ดีขึ้นได้ เพราะศาสนาเป็นเรื่องของคุณค่า ความยุติธรรม ความเมตตา และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ คำประกาศนี้ได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาความรู้เท่าทันศาสนา (หรืออาจจะแปลว่าความรู้ซึ้งทางศาสนา) หรือ Religious literacy ให้แก่ผู้หญิง ซึ่งหมายถึงการมีมากกว่าความรู้ เพราะต้องมีความเข้าใจ 

      ความสามารถในการวิเคราะห์และปรับใช้ด้วย คำประกาศนี้ได้เสนอแนะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นนักบวช ผู้นำศาสนา นักวิชาการศาสนา และผู้ปฏิบัติธรรม ได้นำเอาหลักการของความยุติธรรมทางสังคมมาปรับใช้กับสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัว ในที่สาธารณะ สุขภาพและภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง เช่น สิทธิในการตั้งครรภ์และสิทธิที่จะได้รับการให้บริการทางสุขภาพ คำประกาศนี้ได้เรียกร้องว่า สถาบันศาสนาทั้งหลายต้องเปิดใจยอมรับหลักการแห่งความเสมอภาคและสันติภาพระหว่างเพศ เฉกเช่นเดียวกับที่ศาสนาหลายแห่งได้ยอมรับในหลักแห่งความเท่าเทียมกันของชนชั้นและเชื้อชาติมาแล้ว ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องของการปรับฐานคิดด้วยการมองให้เห็นความเป็นพันธมิตรระหว่างศาสนากับผู้หญิง และความตระหนักในภารกิจของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพุทธมามกะที่จะต้องช่วยกันคิดและทำให้คำประกาศเหล่านี้สามารถปฏิบัติได้ในเชิงรูปธรรม และนำสันติมาสู่มวลมนุษยชาติ