การสืบสายภิกษุณีในประเทศไทย คลื่นลูกที่ ๓ |
คลื่นลูกที่ 3 ภิกษุณีธัมมนันทา (ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) รศ.ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ จบการศึกษาเบื้องต้นจาก ร.ร.ราชินีบนจากนั้นจึงไปศึกษาต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศานตินิเกตัน ประเทศอินเดียได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม แผนกปรัชญา ต่อมาได้รับทุนรัฐบาลแคนาดาศึกษาวิชาศาสนาในระดับปริญญาโทและเอก วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง " การศึกษาเปรียบเทียบภิกษุณีปาติโมกข ์" พิมพ์ออกสู่ตลาดในภาคภาษาอังกฤษ พ.ศ. 2524 ดร. ฉัตรสุมาลย์ เริ่มงานสอนจากมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา ตั้งแต่ พ.ศ. 2512 ต่อมา พ.ศ. 2516-2543 เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะเดียวกันเป็นอาจารยที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอก ทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหิดล และมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ฯลฯ ดร. ฉัตรสุมาลย์เริ่มได้รับเชิญไปร่วมประชุมทางวิชาการในระดับนานาชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2522 และเดินทางปีละหลายครั้งติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ทุกครั้งเป็นการเชิญโดยเจ้าภาพเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น เป็นผู้ที่รู้จักกันดีในระดับนานาชาติในแวดวงของนักวิชาการศาสนา ทั้งในเรื่อง สตรีกับศาสนาและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวข้อที่อาจารย์ฉัตรสุมาลย์ค้นคว้าเป็นพิเศษ เป็นผู้ที่มีวิญญาณนักเขียนตั้งแต่ครั้งเรียนอยู่ที่ศานตินิเกตัน เวลาเดินทางไปต่างประเทศมีประสบการณ์แปลกๆ มักเขียนแบ่งปันความรู้ปรากฏเป็นผลงานในมติชนสุดสัปดาห์ ตอนแรกเป็นบทความพิเศษ ต่อมามีคอลัมน์ชื่อ ธรรมลีลา มีหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มทั้งในงานวิชาการ และสารคดีธรรมะ ตลอดจนมีงานแปลพระสูตรมหายานสำคัญหลายเล่ม นอกจากนั้นยังแปลพระราชนิพนธ์ขององค์ทะไลลามะอีกด้วย ในส่วนของงานด้านสังคมสงเคราะห์ อาจารย์ได้ก่อตั้ง บ้านศานติรักษ์ ใน พ.ศ. 2539ให้เป็นโครงการช่วยเหลือสตรีและเด็ก เพื่อส่งเสริมให้สตรีและเด็กมีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดร. ฉัตรสุมาลย์ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการพูด มีความกล้าที่จะแสดงจุดยืนของตนเอง สามารถชี้ประเด็นได้กระชับและชัดเจน ได้รับเชิญไปออกรายการตอบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับศาสนาที่เป็นแนวทางที่ท่านมีความรู้และถนัด เคยเป็นพิธีกรรายการธรรมะ "ชีวิตไม่สิ้นหวัง" ทางช่อง 3 ติดต่อกันนานถึง 7 ปี (2537-2543) ได้รับรางวัลรายการธรรมะดีเด่น 2 ปีซ้อน ปัจจุบัน ดร. ฉัตรสุมาลย์ ได้สละเพศฆราวาส บวชเป็นสามเณรีจากสยามนิกาย ประเทศศรีลังกา ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2544 มีฉายาในเพศบรรพชิตว่า ธัมมนันทา |