สำหรับสมาชิกโครงการอบรม ๓ เดือน เราก็เข้ามาครึ่งทางแล้ว ครึ่งหนึ่งของเราเป็นนักบวช อีกครึ่งหนึ่งของเราแม้จะยังไม่ได้เป็นนักบวช ก็เป็นนักบวชทางใจ วันนี้อาตมาอยากจะพูดถึงสองหัวข้อที่มันจะเอื้อกัน หัวข้อแรกที่อยากจะพูดถึงก็คือ มลทินของสมณะ
มลทินของสมณะ มี ๑๒ อย่าง ถ้าหากว่าเราได้มีการตรวจสอบตัวเราเองเสมอ ใน ๑๒ ข้อนี้ ทุกๆ วัน ทุกๆ ขณะที่เรามีอารมณ์ ที่เป็นอกุศลมากระทบใจให้เราตรวจสอบ ว่าอารมณ์ที่มากระทบใจนี้ทำให้เราวูบวาบ ทำเราเศร้าใจ ทำให้เราหดหู่ ทำให้เราโกรธ ทำให้เราโลภ มันติดข้องอยู่ในมลทินข้อใด มลทินประการแรกคือ อภิชยา อภิชยาแปลว่าเพ่งอยากได้ นี่เป็น ความโลภ ในลักษณะหนึ่ง เดินเข้าไปในห้องของเพื่อน เพื่อนนักบวชด้วยกันนี่แหละ เห็นเขามีปากกาสวย อยากได้ เพ่งอยากได้ เห็นเขามีสมบัติอะไรที่เราไม่มี เราไปเพ่งอยากได้ของเขา เขามีผ้านี่เออ ผ้านี่เราน่าจะเอาไปทำย่ามได้นะ ไปเพ่งอยากได้ของเขาเช่นนี้ เป็นอภิชยา มลทินประการที่สองคือ พยาบาท พยาบาทนี้เป็นครอบครัวของทั้งความโกรธและทั้งความหลง กิเลสสามกองที่มันหมุนวิ่งตามกันที่อาตมาเคยพูดในครั้งก่อน มันมีสัญลักษณ์ของไก่ งู และก็หมู เป็นตัวแทนของโลภ โกรธ หลง มลทินของสมณะ ๑๒ ประการที่เราพูดถึงมันก็ถูกครอบงำ ด้วยสัญลักษณ์ทั้ง สาม คือ ไก่ คือ งู คือ หมู นั้นแหล่ะ ความพยาบาทมีอยู่ในตระกูลของความโกรธ เจ็บแค้น เจ็บแค้นอยู่ในใจ จะต้องตอบแทนให้ได้ ความแค้นต้องชำระด้วยความแค้น นี้เป็นพยาบาท พยาบาทนี้ถ้าหากว่าเราไม่ละวางมันจะกินใจเราอยู่นาน ไม่ได้ทำลายคนอื่น แต่จะทำลายตัวเองทุกครั้งที่มี่ความพยาบาทเกิดขึ้น มันจะมีผลส่งไป ถึงร่างกาย คนที่เป็นโรคความดันอยู่แล้ว ความดันจะขึ้นสูงทันที ความเคียดแค้นที่จะต้องจัดการกับศัตรู ให้สมสมกับที่มันทำกับเราในความรู้สึกอย่างนั้น ความพยาบาท จะมีดีกรี ดีกรีก็คือความหนักเบาของพยาบาท พยาบาทสุดๆ น่ะ เขาบอกว่าขนาดหนวดยังกระดิกได้เลย ประมาณนั้น เราจะเรื่องราวของวิฑูฑภะได้ วิฑูฑภะนั้นโกรธแค้นพวกศากยะที่ดูถูกชาติตระกูล คิดขึ้นมาครั้งใดก็โกรธแค้น ยกทัพมาทกทียกทัพมาครั้งใดก็มาเจอะสมเด็จลุง คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ถอยทัพกลับไป เมื่อความพยาบาทมันสุมรุมจิตใจร้อนรุ่มขึ้นมา ก็ยกทัพมาครั้งหนึ่ง มันเป็นขนาดนั้น ความพยาบาทจะส่งผลแรงกล้า ยิ่ง ถ้าเรามีความสามารถมาก มีความสามารถหมายถึงยิ่งถ้าเรามีอำนาจในทางทุนทรัพย์มีอำนาจในการรู้จักผู้คน มีเส้นสาย มีอำนาจมากเพียงใด ความพยาบาทก็สามารถแสดงพลังได้มากเพียงนั้น มลทินประการที่สามคือ ความโกรธ อารมณ์โกรธนั้นมันมีรากฐานมาจากตัวตน ไม่ได้อย่างใจโกรธ คนนั้นก็ขัดใจเราคนนี้ก็ขัดใจเราก็โกรธ โกรธมาก ทำใครไม่ได้ก็ทุบกำแพง ทุบประตู อาตมาเคยเห็นลูก ขัดใจแม่ก็ทุบกระจกรถแตกกระจายไป นี่คืออาการของความโกรธที่แสดงออกทางกาย โกรธจัดๆ ก็ตบอีกคนคอหักตายคาที่ได้เหมือนกัน ความโกรธมันรุนแรงถึงขนาดนั้น ไม่ว่าจะโกรธเล็กสักเพียงใด ถ้ามันอยู่ในจิตใจของเราโดยเฉพาะเราที่เป็นสมณะเป็นนักบวชเป็นมลทินทั้งสิ้น มลทินคือความมัวหมอง มลทินประการที่สี่คือ ความผูกโกรธ ภาษาไทยนี้ให้เห็นภาพชัดเจน คือเมื่อกี้นี้ โกรธไปแล้วยังไม่หาย ยังผูกเป็นเงื่อนไว้ในใจ คิดขึ้นมาครั้งใดก็ผูกโกรธ และจะต่อโยงไปถึงพยาบาทที่เราได้พูดมาแล้ว มลทินประการที่ห้าคือ การลบหลู่บุญคุณท่าน บุญคุณท่านก็คือคนที่เขาเคยมีบุญคุณกับเรา เราไม่เห็นบุญคุณ เราพูดจาลบหลู่ การลบหลู่นี่ลบหลู่ด้วยวาจา ลบหลู่ด้วยการกระทำ ลบหลู่แม้ในใจ คนอื่นไม่รู้แต่เรารู้ "โอ๊ย ขนาดนี้นะ มันไม่ขนาดไหนหรอก เราเก่งกว่า เราดีกว่า" การลบหลู่นี้มันเกิดมาจากความหลง รากฐานมาจากความหลง ไม่รู้จักบุญคุณ คน แล้วก็ลบหลู่บุญคุณท่าน มลทินประการที่หกคือการตีเสมอ เคยสังเกตไหมว่ามือเรานั้น ห้านิ้วนี่มันไม่เท่ากันแต่ละนิ้ว มันก็มีหน้าที่ต่างกัน นิ้วหัวแม่โป้ง เวลาที่กำมือแล้วก็เอานิ้วสี่นิ้วมากดหัวแม่โป้งเอาไว้ เวลาใครเขาชกหรือว่าคุณโยมชกอะไร เพราะว่าถูกนิ้วอีกสี่นิ้วกดทับ อาการตีเสมอคืออาการของคนที่ไม่รู้จักตัวของเราเอง ไม่ทำตัวเป็นนิ้วก้อย เป็นนิ้วก้อยนิ้วเล็กๆ อยากจะใหญ่เหมือนกับนิ้วชี้ ลองนึกดูว่าถ้าทุกคนตีเสมอไม่มีอาวุโส มือคุณโยมนี่นะ นิ้วมันใหญ่เท่ากันหมดเลย มันน่าเกลียดไหม มือคนที่นิ้วใหญ่เท่ากันนี่มันคือมือเปรตนะ ไม่ใช่มือมนุษย์ เพราะฉะนั้นอาการตีเสมอถือว่าเป็นมลทินของสมณะ พระสองรูป จะนั่งร่วมอาสนะได้ ก็ต้องมีอาวุโสห่างกันภายในสองพรรษา ไม่อย่างนั้น ก็ต้องแยกอาสนะ พระวินัยก็มีกำหนด ทำให้เรารู้ว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร ให้สังเกตว่าหลวงแม่ไม่เคยนั่งเก้าอี้เดียวกับอุปัชฌายาเลย ถัดมาก็คือความริษยา ความริษยานี่มาอยู่ในตระกูล ของความโลภ ไม่ใช่โลภอยากได้เท่าเขา แต่เห็นใครดีจะทำลายเขา มีวิธีการทำลายเขาด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำ แน่นอนที่สุดริษยานั้น มันเกิดในความคิดอยู่ในจิตใจเสียก่อน แสดงออกทางคำพูด แสดงออกทางกิริยาท่าทาง เห็นผ้าเขาตากเอาไว้ ไปดึงมันลงมาซะ ไปดึงมันลงมามันคลุกขี้โคลนซะ นี่คืออาการริษยาที่เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ความหนักเบาของริษยาที่อยู่ในใจของเรานั้น ถ้ามันหนักมันก็แสดงอิทธิฤทธิ์มาก ถ้ามันน้อยมันก็แสดงอิทธิฤทธิ์น้อย ตัวถัดมาคือ ความตระหนี่ก็อยู่ในครอบครัวของความโลภ มีของ ไม่ ว่าจะมีอะไรไม่แบ่งปันเก็บเอาไว้แต่เฉพาะตัว เก็บเอาไว้จนเน่า ของกินบางอย่าง เป็นห่อเป็นซอง ของบางอย่างเปิดแล้วต้องกินเลยไป หวงเอาไว้ ไม่อยากให้คนอื่นกิน เก็บเอาไว้ก่อน ทีนี้ซองมันก็เปิดแล้วกว่าจะนึกขึ้นได้อีกทีหนึ่งก็เน่าหมดแล้ว เพราะ ความตระหนี่อย่างนี้เอง เวลาที่เราจะได้อะไรมาก็ได้มาด้วยความยากลำบาก คนอื่นเขาก็ไม่อยากให้เรา เพราะเราไม่เคยให้อะไรเขา ความตระหนี่นี้เป็นมลทินของสมณะ มีอะไรก็แบ่งปันแจกแจงคนอื่นเขาไป ร่างกายของเรากินได้ที่สุดก็แค่นี้แหล่ะมื้อหนึ่ง กินได้ที่สุดก็แค่นี้ เราจะตระหนี่เอาไว้ทำไม ถ้าหากว่าเราถือว่าเราเป็นลูกของพระตถาคต ไม่ว่าเราจะขาดเหลืออะไร ท่านก็จะดูแล พระท่านก็จะดูแลให้เรามี ไม่ให้เราขาด แต่ถ้าหากว่าเรางก ตระหนี่ ไม่เผื่อแผ่ กับคนอื่นเลย มันก็จะสร้างความตระหนี่ให้เกิดขึ้นในจิตใจ สร้างความตระหนี่ให้เกิดขึ้นในบรรยากาศรอบข้าง มลทินตัวถัดมาคือความมักอวด มักอวดนี่เขาเรียกว่า อีโก้ Ego เป็นคนที่ตัวกูของกูแรง มีอะไรก็ชอบอวด รู้อะไรนิดหนึ่งก็พูดยาว อาการมักอวดนี่แสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ ทำให้เกิดความรำคาญกับเพื่อนๆ ไม่รุนแรงนัก แต่มันแสดงถึงความขาดในตัวเอง จึงจำเป็นที่จะต้องอวด จำเป็นที่จะต้องแสดง เพื่อที่จะให้คนอื่นเขาเห็นว่าตัวนั้นเก่ง ตัวนั้นแน่ แต่แท้ที่จริงแล้ว คนที่เขามีจริงๆ ไม่ว่าจะมีความรู้ ไม่ว่าจะมีสมบัติ ไม่ว่าจะมีชื่อเสียง เขาไม่ต้องอวดเลย ไม่ต้องแสดงตัวเลย "รู้น้อยว่ามากรู้" เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เราเป็นสมณะ สิ่งใดที่เรารู้ เราเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน จะเป็นคนละลักษณะกับอาการมักอวด ตัวถัดมาคือมายา มายา ก็คือการพูด การแสดงที่ต้องการให้เป็นเพียงการแสดงไม่สื่อถึง ความจริง เหมือนกับเล่นละคร เป็นคนที่เล่นละครตลอดเวลา มีมายา บางทีเราพูดติดๆ กันไปว่า มายา สาไถย ทำอาการมายาตลอดเวลา ไม่ใช่วิถี ไม่ใช่นิสัยของสมณะ ตัวถัดมาหนักหนาเข้าไปหน่อยหนึ่งคือ ปรารถนาลามก ในลักษณะที่ตัวเองผูกพันเข้าไปแล้วกับเรื่องกามกิเลส จิตใจของเราผูกพันในเรื่องที่จะเป็นไปเพื่อกามกิเลส อ่านหนังสือพิมพ์ ก็ไปพอใจไอ้ที่รูปโป๊ๆ แต่งตัวก็ ลืมไปว่าตัวเองเป็นนักบวช ไปเลียนตามแบบของฆราวาส บางครั้งที่เราไม่สำรวจตัวของเราเอง มันก็มีแนวโน้มไปสู่กามฉันทะ อันนี้ก็คือปรารถนาลามก ประการสุดท้ายที่เป็นมลทินของนักบวช ก็คือการเห็นผิด มิจฉาทิฏฐิ การเห็นผิด นี้มีหลายรูปแบบ รูปแบบที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวพุทธก็คือ เห็นผิดเพราะไม่เข้าใจในอริยสัจสี่ ไม่เข้าใจทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ไม่เข้าใจในเหตุแห่งทุกข์ ไม่เข้าใจในเรื่องการพ้นทุกข์ และวิถีที่จะช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้ มลทินของสมณะนี้อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ ที่มันเกี่ยวเนื่องกันเกี่ยวกับมลทินของสมณะที่อาตมาอยากจะพูดถึงก็คือ สาราณียธรรม หมายความว่า ธรรมะอันทำให้เราระลึกถึงกัน "เรา"หมายถึงใคร " เรา"หมายถึงพวกเราที่เป็นนักบวชที่มาอยู่ในโครงการ สามเดือนนี้ เมื่อคืนนี้เราพูดไปแล้วว่า ๖ อาทิตย์ผ่านไปเราก็มีเรื่องถูกใจกันมั่ง ไม่ถูกใจกันมั่ง ขัดใจกันมั่ง แต่เอาละเราจะตั้งสติใหม่ เราจะต้องอยู่กันอีก ๖ อาทิตย์ เราจะตั้งสติใหม่ ที่เราจะพยายามเพียรพิจารณามองหาความดี ในสหธรรมิก ในเพื่อนที่ร่วมปฏิบัติอยู่ด้วยกัน สาราณียธรรมมี ๖ ประการ ที่จะทำให้เราได้ระลึกถึงกัน เป็นที่รักแก่กันเป็นที่เคารพแก่กัน เป็นไปเพื่อการสังเคราะห์กัน ไม่วิวาท เป็นไปเพื่อเราสามัคคีกันและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สาราณียธรรมนี้ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ เรียกว่า โกสัมพีสูตร เป็นพระสูตรที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงแก่พระภิกษุสงฆ์ ขณะที่เสด็จไปประทับที่เมืองโกสัมพี ธรรมมะอันทำให้ระลึกนึกถึงกันนั้น ประการแรก ให้ตั้งอยู่ในกายกรรมอันประกอบด้วยความเมตตา ความเมตตาก็คือความรักความปรารถนาดี ต่อตัวเราเองต่อทุกๆ คน สรรพสัตว์สรรพสิ่ง สรรพสัตว์สรรพสิ่งหมายรวมถึงความเมตตา สรรพสัตว์เราพูดถึงเพื่อนสหธรรมมิกที่ร่วมปฏิบัติด้วยกันตลอดไปจนถึงเจ้าปีเตอร์ เจ้าโอวเลี้ยง เจ้าอนุชา ที่เป็นสุนัขอยู่ในวัดเดียวกันกับเรา มีความเมตตาต่อสรรพสิ่ง สมัยหนึ่งมีนักบวชคนหนึ่งที่อยู่กับเรา เวลาเดินไปเขาจะแกว่งแขน เมื่อเจอใบไม้หรืออะไรอยู่ใกล้ๆ เขาก็จะเหนี่ยวทึ้งฉีกมาเสมอ หลวงย่าก็ต้องเรียกไปสอนว่าเช่นนี้ไม่มีความเมตตา มันเป็นการละเมิด เป็นการล่วงเกินแม้กระทั่งใบไม้ เดินมานี่เอามือเหนี่ยวรั้ง อะไรนี่ ดอกไม้ใบไม้ข้างๆ เด็ดทิ้งหมดเลย นี่ก็เป็นกายกรรมที่ต้องประกอบด้วยความเมตตา ประการที่สองของสาราณียธรรมก็คือ การตั้งวจีกรรม คำพูดที่ประกอบด้วยความเมตตา ตั้งมโนกรรม ประกอบด้วยความเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ ในเพื่อนที่ประกอบพรหมจรรย์ด้วยกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลังทั้งในที่ลับและที่แจ้ง นั้นก็คือ สามข้อแรกนี้เราจะตั้งมั่นอยู่ในความเมตตา อาตมาจะจัดลำดับให้ใหม่ ใจ วาจา กาย แต่ทีนี้ที่ท่านพูดน่ะท่านพูดมาจาก กาย ก่อนเพราะว่ากายเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด แล้วก็พูดถึงวาจา แล้วก็พูดถึงใจ แต่แท้ที่จริงแล้ว ๓ ตัวนี้มันเริ่มที่ใจ เรามีเมตตาอยู่ที่ใจ แสดงออกโดยการพูด แสดงออกโดยการกระทำ ให้มีความเมตตาในเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมอยู่ด้วยกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ประการที่ ๔ ของสาราณียธรรมก็คือ การแบ่งปันลาภแก่เพื่อนสหธรรมิก เมื่อกี้นี้เราดูในมลทินของนักบวชที่มีความตระหนี่ ถือว่าเป็นมลทิน ทีนี้เมื่อเรามีลาภสักการะเข้ามาเราก็แบ่งปันกัน อย่างที่อาตมาได้พูดแล้วร่างกายของเรา ท้องของเรานั้น ได้เสพอาหาร มันรับได้แค่นิดเดียว มันไม่สามารถที่จะรับได้มากมายสักแค่ไหน มีอะไรกันแบ่งปันกันไป การแบ่งปันนั้นทำให้เราเป็นมีตลอดเวลา แต่ถ้าคุณโยมไม่แบ่งปัน คุณโยมได้ของมาชิ้นนึง คุณโยมใช้วันนี้ก็หมด แต่ถ้าเราแบ่งปันเพื่อนก็แบ่งให้เรา วันโน้นถ้าเพื่อนคนโน้นได้เพื่อนก็แบ่งให้เรา เพราะฉะนั้นการแบ่งปันลาภ จะทำให้เราไม่มีวันหมดสิ้นจากลาภ อาตมาเคยเล่าวันก่อนที่ไปไต้หวันว่า มีร่ม แล้วมีเพื่อนที่ไปด้วยเขาไม่มีร่ม เขาเป็นฆราวาสนะ อาตมาดูแล้วว่าสุขภาพบอบบางกว่าอาตมา อาตมาดูแล้วคิดว่าเขาจะจำเป็นที่จะใช้ร่มมากกว่าอาตมา ก็ให้ร่มไป ทันทีก็มีคนเขาให้ร่มกับเราอยู่ดีน่ะ เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดว่าให้เขาไปแล้วเราไม่มีใช้ ถ้าเราคิดว่าเขาจะจำเป็นกว่าเราให้เขาไปเถอะแล้วมันมาเอง ผู้ปฎิบัติธรรม เบื้องบนจะดูแลอยู่เสมอ ดูแลไม่ให้เราอดอยาก ไม่ให้เราขาดแคลน เพราะฉะนั้นมีอะไรให้เราแบ่งปันกัน อย่าไปสะสมอยู่คนเดียว ประการที่ ๕ ของสาราณียธรรม ก็คือมีศีลอันดีเสมอด้วยเพื่อนพรหมจรรย์ เพื่อนพรหมจรรย์ คือเราอยู่ด้วยกันปฏิบัติธรรมด้วยกัน สามเณรีก็ถือศีล ๑๐ ลูกๆ ที่อยู่ที่วัดที่บวชเป็นแม่ชีก็ดี ไม่ได้บวชก็ดี ก็รักษาศีล ๘ มีศีลเสมอกัน การมีศีล ทำให้อยู่ด้วยกันด้วยความสุข ทีนี้ประการสุดท้ายเป็นประการสุดท้ายของสาราณียธรรม แล้วมันก็สอดคล้องกับมลทินของสมณะที่เราพูดกันมาเมื่อกี้นี้ มลทินของสมณะข้อสุดท้าย เห็นผิด แต่ส่วนข้อสุดท้ายของสาราณียธรรม มีทิฐิความเห็นอันประเสริฐ เสมอด้วยเพื่อนพรหมจารีย์ อันนี้ก็เป็นสัมมาทิฐิ นะ มันกลับกับมลทิน มลทินก็คือมิจฉาทิฐิ เมื่อเรามีสัมมาทิฐิ มีความคิดเห็นที่ถูกต้องประเสริฐ ทัดเทียมกันกับเพื่อนๆ เรามีเมตตาธรรม เราแบ่งปันกัน เรามีศีลเสมอกัน เรามีทิฐิเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้เมื่อจากกัน เราก็ย่อมระลึกถึงกัน เป็นที่รักแก่กันและกัน เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อการสงเคราะห์ อยู่ด้วยกันก็ไม่มีการวิวาท กัน แต่อยู่ด้วยกันก็มีความสามัคคีกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็คือเรื่องสาราณียธรรมซึ่งอาตมาคิดว่ามันสอดคล้องกับเรื่องมลทิน ถ้าเรารักษา ตัวเราเองนักบวชให้ ปราศจากมลทิน ๑๒ ประการ แล้วเราก็พิจารณาตั้งมั่น ที่จะรักษาสาราณียธรรมก็คือ ธรรมะ อันทำให้ระลึกถึงกัน เราก็จะเป็นชุมชนสังฆะเล็กๆ ที่มีความสุข เป็นตัวอย่างให้คนที่เขาเข้ามาได้เห็นว่า อ๋อ ผู้หญิงเขาก็อยู่กันอย่างมีความสุขได้ คุณโยมอย่าลืมเรื่องมือ เรื่องนิ้วมือ มันเป็นไปไม่ได้ที่นิ้วมือมันจะยาวเท่ากันหมด นั้นหมายถึงว่านิ้วก้อยก็ต้องมีความอ่อนน้อม นิ้วหัวแม่โป้งก็ต้องคอยปกป้องอีก ๔นื้ว นิ้วชี้จะใช้การเวลาที่จะใช้งาน นิ้วนางก็จะใช้การเวลาที่ได้รับเกียรติยศชื่อเสียง นิ้วกลางก็เป็นคนที่คอยไกล่เกลี่ยทั้งสองฟาก แม้แต่ธรรมชาติมันก็สอนเราด้วยความไม่เท่าเทียมกัน ของนิ้วทั้ง ๕ แต่นิ้วทั้ง ๕ ต่างคนต่างมีบทบาท เพื่อความสามัคคีของมือ ถ้าคุณโยมเกิดไม่พอใจนิ้วชี้ตัดนิ้วชี้ออกไป คุณโยมก็พิการ นิ้วก้อยไม่เห็นมันจะทำอะไรเลย รุ่งริ่งรุงรังตัดมันออกไป มันก็พิการ ฉันใดก็ฉันนั้นชุมชนสังฆะก็เหมือนกัน แต่นิ้วที่ของแต่ละนิ้ว ก็ต้องรู้ว่าเราทำอะไรเราอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ทุกคนจะใหญ่เป็นนิ้วแม่โป้งหมด จะเป็นมือที่หน้าเกลียดมากๆ ขอให้คุณโยมตั้งใจพิจารณาอย่างนี้ เราก็จะอยู่ด้วยกันได้ มีสิ่งใดสงสัยให้ไถ่ถาม ให้แสวงหาความรู้ คุณโยมเข้ามาในวัด วัดนี้ ไม่ใช่วัดอะไร วัดกิเลส ในใจตัวเอง วัด ว่ามันยังมีเหลืออยู่มากแค่ไหน แล้วก็ พยายามขัดเกลา สำหรับบางคนมันเยอะหน่อย อาจจะต้องใช้สิ่ว อาจจะต้องใช้ค้อน อาจจะต้องใช้ตะลุมพุก แต่เราก็มาขัดเกลา กะเทาะ ปอกเปลือก กิเลส ด้วยกันทั้งนั้น ขอเจริญพร สาธุ วันนี้เป็นวันพระตรงกับวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๔๗
|