พระภิกษุณีในศิลาจารึก

ฉัตรสุมาลย์

 เราทราบกันดีว่าในสมัยพุทธกาลนั้น  มีพระภิกษุณีอยู่เป็นจำนวนมาก  เท่าที่ปรากฏชื่อในพระไตรปิฎกอย่างน้อยก็มีถึง ๗๖ รูป  เป็นพระอรหันต์เถรีที่ได้รับการยกย่องจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามีความเป็นเลิศด้วยความสามารถต่างๆถึง ๑๓ รูป ดังปรากฏแม้ในมหาสันติงหลวงที่มาสวดกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อต้นปีนี้ (๒๕๕๐)
 แต่ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว เราไม่มีข้อมูลการบันทึกถึงพระภิกษุณีอีกเลย  จนกระทั่งแม่ชีรูปหนึ่ง เคยพูดกับผู้เขียนว่า  ภิกษุณีหมดไปตั้งแต่ครั้งนั้น

 ชาวไทย และพระภิกษุไทยก็มีข้อมูลหลังพุทธกาลอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหินท์เถระนำพระศาสนาไปประดิษฐานในลังกาสมัยพุทธศตวรรษที่ ๓ นั้น พระนางอนุฬา น้องสะใภ้ของพระเจ้าติสสะผู้ครองลังกาในสมัยนั้น  ขอออกบวชหลังจากที่ได้ฟังธรรมจากพระมหินท์เถระจนได้บรรลุโสดาบัน  พระเจ้าติสสะจึงทรงส่งฑูตขึ้นไปขอพระภิกษุณีสงฆ์ให้มาให้การอุปสมบทแก่พระนางอนุฬาและข้าราชบริพาร  พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระนางสังฆมิตตาเถรี พระธิดาของพระองค์ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของพระมหินทร์เถระนั่นเอง
 หลักฐานทางฝ่ายเถรวาทที่อ่านเฉพาะพระไตรปิฎกและอรรถกถาฝ่ายเถรวาทมีเพียงนี้  แม้ราชบัณฑิตก็เคยพลาดมาแล้วในการสรุปว่า พระนางสังฆมิตตาเป็นภิกษุณีรูปสุดท้ายของเถรวาท  ผู้เขียนได้เคยเสนอข้อมูลในคอลัมน์นี้มาแล้ว
 ในการไปร่วมประชุมสภาชาวพุทธนานาชาติที่เมืองฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี(๑๘-๒๐ กค.๒๕๕๐)ครั้งนี้ ได้ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมจากที่ผู้เขียนได้เคยนำเสนอตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๘ ในหนังสือเล่มน้อยชื่อ “ภิกษุณียังมีอยู่หรือ”
 หลักฐานที่ปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นมหายานหรือเถรวาท คือหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก จำนวนไม่น้อยที่ค้นพบในประเทศอินเดียและประเทศใกล้เคียง
 อาจารย์ปีเตอร์ สกีลลิ่ง ที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักวิชาการไทย ได้เสนอการค้นคว้าของท่าน โดยเสนอเป็นภาพสไลด์ประกอบคำบรรยายที่ผู้เขียนขอย่อยมาฝากท่านผู้อ่าน แฟนมติชนสุดสัปดาห์
 หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงพระภิกษุณีปรากฏในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช (พุทธศตวรรษที่ ๓) พบที่สารนาถ ระบุถึงพระภิกษุและภิกษุณีสงฆ์ ขอให้คณะสงฆ์อย่านำมาซึ่งความแตกแยก
 ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกที่เมืองไพรัต ใกล้กัลกัตตา พูดถึงภิกษุ ภิกษุณี รวมทั้งอุบาสก อุบาสิกา ขอให้ตั้งใจฟังธรรม  ตามหลักฐานที่ปรากฏนี้ พระเจ้าอโศกทรงให้ความสำคัญเสมอกันระหว่างภิกษุและภิกษุณี
 จารึกอีกแบบหนึ่งซึ่งพบจำนวนไม่น้อยที่อ้างถึงและทำให้รู้ว่ายังมีภิกษุณีสงฆ์อยู่ คือจารึกที่ทำบุญอุทิศให้  บางครั้งภิกษุณีเป็นผู้ทำบุญเอง บางครั้งคนอื่นทำและอุทิศให้ภิกษุณีผู้เป็นอาจารย์
 ที่ฐานพระสถูปสาญจี  (พุทธศตวรรษที่ ๔ ถึง พุทธศตวรรษที่ ๖)อาจารย์เกรกอรี่ โชแปงคำนวณออกมาได้ว่า มีผู้ถวายที่เป็นภิกษุ ๑๒๙ รูป ภิกษุณี ๑๒๕ รูป อัตราส่วนสูสีทีเดียว
 ภารหุตสถูปอยู่บนเส้นทางการเดินทางของพ่อค้าที่ไปอินเดียตอนกลางถูกทำลายไปในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ ชิ้นส่วนที่เป็นประตูและราวรั้วเป็นหิน ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์เมืองกัลกัตตา  มีชื่อของ “พระภิกษุณีนคิลาเป็นผู้ ถวายเสา” ได้มาจากเมือง โมระคีรี
 “ภิกษุณีพธิกา ธิดาของมหามุขี ชาวเมืองทภินี เป็นผู้ถวาย” จารึกนี้ปรากฏอยู่บนชิ้นส่วนของศิลาที่ค้นพบ
 “ภิกษุณีโสมา จาก กกัมทิ” ชื่อเมืองนี้เป็นที่รู้จักกันในวรรณคดี แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าที่ใดในแผนที่ปัจจุบัน
 สามรูปนี้มีชีวิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๕ บริเวณที่พบหลักฐานคือตอนกลางของอินเดีย
 ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีหลักฐานที่กล่าวถึงภิกษุณีพุทธมิตรา เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเพราะเรียกขานว่าเป็นปิฏกาจารย์  ซึ่งแสดงว่าเป็นผู้ทรงความรู้ในพระไตรปิฏก มีรูปพระโพธิสัตว์ศิลา ๓ รูปที่ท่านสร้างขุดพบที่โกสัมพี เมืองโบราณริมฝั่งแม่น้ำคงคา รูปแกะสลักที่พบไม่สมบูรณ์ แต่ระบุช่วงเวลาว่าเป็นรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ นั่นคือประมาณ พ.ศ.๖๐๐ เป็นต้นมา
 รูปพระโพธิสัตว์ยืนรูปนี้มีขนาดใหญ่สูง ๑๑๒ ซม. ทั้งที่พระเศียรหักไป ที่ฐานมีจารึกชัดเจนว่า ภิกษุณีพุทธมิตราสร้างพระโพธิสัตว์นี้ เป็นปีที่ ๒ ในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ
 อนุมานได้ว่าภิกษุณีพุทธมิตราเป็นพระภิกษุณีที่มีบทบาทสำคัญในคณะสงห์ที่เมืองโกสัมพี นอกจากนี้ ท่านยังเข้าร่วมในการสร้างพระพุทธรูปยืนสูง ๒.๗๐ เมตรที่สารนาถ ซึ่งเป็นงานของพระภิกษุพละ อาจารย์ในพระไตรปิฎกเช่นกัน ร่วมกับบิดามารดาของท่าน สานุศิษยฺและภิกษุณีพุทธมิตราผู้เป็นปิฏกาจารย์
 นักวิชาการเชื่อว่าพระพุทธรูปขนาดใหญ่ดังกล่าวน่าจะทำที่เมืองมถุรา แล้วขนส่งไปยังสารนาถและโกสัมพี  ผู้ที่จะทำงานใหญ่เช่นนี้ได้ ต้องมีบารมีและมีกำลังไม่น้อย
 แม้ที่มถุราก็พบจารึกที่ฐานพระพุทธรูปที่เป็นหินทรายแดง จารึกข้อความว่า ภิกษุณีพุทธทาสีเป็นผู้ถวายในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะเช่นกัน
 หลักฐานตรงนี้ ทำให้เราเห็นภาพว่าภิกษุณีพุทธมิตราเป็นอาจารย์ที่มีผู้เคารพศรัทธาและสานุศิษย์ในวงกว้าง  ในอีกหลายสิบปีต่อมา ปีที่ ๓๓ในรัชสมัยของพระเจ้าหุวิสกะ พระภิกษุณีธนวดี เป็นพระอาจารย์ในพระไตรปิฎกเช่นกัน ได้สร้างพระพุทธรูปที่เมืองมถุรา พระภิกษุณีรูปนี้เป็นอันเตวาสินี ของพระอาจารย์ภิกษุพละ และเป็น “ภคิเนยี” คือเป็นหลานของพระภิกษุณีพุทธมิตรารูปที่ว่านี้
 ชิ้นส่วนของจารึกจากตำบลปาลิเขระ เมืองมถุรา ระบุว่าภิกษุณีพุทธเทวาศิษย์ของภิกษุณีปุษยะหัสตินี สร้างในปีที่ ๓๙ ในรัชสมัยของพระเจ้าหุวิสกะ “เพื่อประโยชน์สุขของสรรพสัตว์” พระพุทธรูปนั่งองค์นี้สร้างตามแบบมถุรา ปรากฏรูปแกะสลักของภิกษุณีพุทธเทวานี้ด้วย
 ในถ้ำกูดะที่อยู่ในภูเขาทางฝั่งตะวันตกของอินเดีย  ปรากฏว่าในถ้ำหมายเลข ๕ มีจารึกถึงภิกษุณีปทุมนิกา ว่าเป็นผู้รวบรวมปัจจัยแกะสลักถ้ำและบ่อน้ำ
  ที่อยู่ของภิกษุณีที่เรียกว่า อุปสัย นั้น ยังไม่พบหลักฐานว่าท่านอาศัยอยู่ในถ้ำหรือไม่  หลักฐานในวรรณคดีที่พูดถึงอารามใหญ่ของภิกษุณีที่สาวัตถีแม้จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ที่ใด
 ที่ถ้ำจุนนาร์ในรัฐมหาราษฎร์ทางตะวันตกของอินเดียมีบันทึกการสร้างอุปสัยในเมืองถวายพระภิกษุณีแห่งนิกายธัมมุตริยะ  ทั้งนี้เพราะโดยพระวินัย พระภิกษุณีจะอยู่ในเมือง ไม่อยู่ป่า  ยังไม่พบหลักฐานในเมืองจุนนาร์เช่นกัน
 ข้ามไปดูหลักฐานในประเทศเนปาลบ้าง  ในหุบเขาเมืองกัตมัณฑุนั้น  ภิกษุณีปริสุทธมตี ชาวศากยะ สร้างพระพุทธรูปยืนเนื้อโลหะทองเหลืองถวายที่วัดยัมกัล ระบุ ค.ศ.๕๓๙ (พ.ศ. ๑๐๘๒ ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งคลีฟแลนด์)
 นอกจากนี้เราก็ยังโชคดีที่ได้ศึกษาหลักฐานจากแหล่งต่างๆ ที่ได้นำมารวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์เช่น รูปพระนางตาราโพธิสัตว์ สร้างถวายโดยภิกษุณีคุณมตีชาวศากยะ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๙ (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถาน เมืองกัลกัตตา)
 รูปพระโพธิสัตว์สีหนาทโลเกศวรที่แสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เบอร์ลิน ได้มาจากแคว้นพิหาร ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีจารึกว่าสร้างถวายภิกษุณีวิชัยศรีภัทรา
 ในการสร้างรูปพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์นั้น ภิกษุณีผู้สร้าง หรือที่คนอื่นสร้างให้ก็ไม่นิยมเน้นพระภิกษุณี จึงไม่ค่อยมีหลักฐานถึงตัวผู้สร้างว่าหน้าตาเป็นอย่างไร
ในพิพิธภัณฑ์ที่มถุรามีรูปพระภิกษุณีอุบลวัณณากำลังก้นลงกราบพระพุทธเจ้าขณะที่เสด็จลงมาจากดาวดึงส์
 การสร้างรูปพระอรหันต์เถรีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างให้เป็นที่ระลึกถึงพระราชธิดาที่วัดเทพธิดาจึงเป็นการสร้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
เป็นการทิ้งร่องรอยเพื่อการศึกษาในอนาคตที่ดีที่สุดแบบหนึ่ง
 ในทศวรรษนี้เองก็มีผู้มีจิตศรัทธาสร้างพระอรหันต์เถรี ๑๓ รูป ขนาดหน้าตัก ๓๐ นิ้ว โดยใช้แม่แบบจากวัดเทพธิดา  ก็เป็นการรักษาร่องรอยประวัติศาสตร์ของพระภิกษุณีอีกรูปแบบหนึ่ง
 ด้วยข้อมูลเหล่านี้  ท่านผู้รู้ทั้งหลาย คงไม่สามารถปิดหูปิดตาไม่รับรู้การมีอยู่ของภิกษุณีสงฆ์ที่ยาวนาน ในแผ่นดินอินเดียและเนปาลได้แล้ว
 สมัยนี้เป็นสมัยของข่าวสารข้อมูล เราจะใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์สูงสุดอย่างไร ขึ้นอยู่กับเราผู้เสพข้อมูลโดยแท้