การประชุมพุทธศาสนานานาชาติที่ฮัมบวร์ก เยอรมนี

ฉัตรสุมาลย์

      ในการประชุมศาสนานานาชาติในชีวิตของผู้เขียนในช่วง ๓ ทศวรรษที่ผ่านมา  เรื่องศาสนาเป็นโลกของผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่  ผู้หญิงที่เป็นนักวิชาการมีเพียงส่วนน้อยและน้อยมาก  ผู้เขียนน่าจะเป็นนักวิชาการคนแรกๆในประเทศไทยที่ได้ปริญญาเอกทางศาสนา  ประสบการณ์ที่ผ่านมาจึงเป็นประสบการณ์ของชนกลุ่มน้อย
 แต่การประชุมนานาชาติที่ฮัมบวร์ก ครั้งนี้ เป็นประสบการณ์ที่ตรงกันข้าม  เพราะประเด็นในการประชุมเป็นเรื่องของผู้หญิงชาวพุทธโดยทั่วไป และนักบวชในพุทธศาสนาโดยเฉพาะ 
      นับเป็นครั้งแรกที่นักบวชสตรีในพระพุทธศาสนากลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของที่ประชุม
      แม้พระภิกษุจะเป็นส่วนน้อยและน้อยมากที่เข้าร่วมประชุม  แต่เสียงของพระภิกษุสงฆ์ก็มีความสำคัญอย่างยวดยิ่งในการประชุมครั้งนี้

 

       ดังที่ได้เล่าเกริ่นไว้แล้วในเดือนก่อนว่า  การประชุมครั้งนี้  สืบเนื่องมาจากการที่องค์ทะไลลามะ มีพระประสงค์ที่จะได้รับฟังผลงานศึกษาวิจัยของบรรดานักวิชาการและผู้รู้ทางพระวินัยในนิกายต่างๆของพระพุทธศาสนา  ทั้งนี้เพราะทรงเห็นความสำคัญในการอุปสมบทของภิกษุณีสงฆ์ 
       ในทิเบตเอง มีเพียงการบรรพชาระดับสามเณรี  เมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่ไปสู่โลกตะวันตก  สตรีชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อยที่สละชีวิตทางโลกและหันมาดำเนินชีวิตทางธรรมโยการออกบวชเป็นสามเณรี  ในเมื่อยังไม่มีการอุปสมบทเป็นภิกษุณี องค์ทะไลลามะจึงสนับสนุนให้สามเณรีชาวต่างชาติที่บวชในสายทิเบตโดยถือพระวินัยในนิกายมูลสรวาสติวาทไปอุปสมบทที่ไต้หวันและฮ่องกงกับคณะสงฆ์ของจีน
 แต่บัดนี้  ความต้องการอุปสมบทเป็นภิกษุณีในสายทิเบตมีมากขึ้นตามลำดับ องค์ทะไลลามะทรงแสวงหาทางออก โดยมอบหมายให้สำนักงานศาสนาและวัฒนธรรมของรัฐบาลทิเบตผลัดถิ่นศึกษา วิจัยเรื่องนี้โดยเฉพาะ  เป็นเวลาร่วม ๓๐ ปี
        เมื่อกลางปี ๒๕๔๙ ท่านธัมมนันทาได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานศาสนาและวัฒนธรรมของรัฐบาลทิเบตผลัดถิ่น ให้เข้าร่วมเป็นกรรมการพิจารณาและเสนอความคิดเห็นในการอุปสมบทภิกษุณีในนิกายมูลสรวาสติวาท
       สืบเนื่องจากการทำงานในคณะกรรมการชุดนี้ ท่านธัมมนันทาก็เลยได้รับนิมนต์ให้ไปร่วมด้วยในฐานะที่ได้ศึกษาเรื่องพระวินัยของภิกษุณีมากว่า ๓๐ ปี
       งานประชุมที่ว่านี้ จัดขขึ้นในระหว่าง ๑๘-๒๐ กรกฏาคม ๒๕๕๐
       เมื่อองค์ทะไลลามะทรงแสดงพระประสงค์ให้จัดงานประชุมครั้งนี้ขึ้น ทรงมอบเงิน ๕ หมื่นฟรังก์สวิสเป็นเงินก้อนแรกให้เริ่มงาน โดยภิกษุณีจัมปา เซ็ดดรอน ชาวเยอรมัน ร่วมกับ ดร.เทีย มอร์  อาจารย์หญิงชาวเยอรมัน รณรงค์หาทุนในการประชุมครั้งนี้  โดยใช้ห้องประชุมที่ใหญ่ที่สุดของมหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก เป็นห้องประชุมหลัก
      นักวิชาการพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะสายพระวินัยและประวัติศาสตร์มีทั้งฆราวาสและนักบวชเสนอผลงานวิจัยมากถึง ๗๐ เรื่อง 
      บรรยากาศในการประชุมคับคั่งอบอุ่น เป็นครั้งแรกที่เห็นนักบวชสตรีในพระพุทธศาสนามาร่วมในที่เดียวกันมากที่สุด  ภิกษุณีสายมหายานจากไต้หวัน ใส่จีวรสีน้ำตาล ภิกษุณีจากจีนแผ่นดินใหญ่แต่เวลานี้ไปอยู่ที่วัดพระพุทธเจ้าหมื่นองค์ที่สหรัฐอเมริกา ใส่ชุดจีนข้างในสีเหลืองแต่มีจีวรเปิดไหล่สีน้ำตาลไหม้  พระภิกษุณีจากเวียดนาม ใส่เสื้อแขนยาวสีเหลืองและจีวรแบบเถรวาทสีเดียวกัน  พระภิกษุและภิกษุณีสายเถรวาทที่บวชจากศรีลังกาใส่จีวรสีน้ำตาลแดง  พระภิกษุสงฆ์สายวัดป่าของอาจารย์ชาทั้งจากอังกฤษและออสเตรเลียใส่จีวรสีเดียวกับพระไทยจากวัดบวรฯ ที่คนไทยคุ้นตา  ศีลธรา ซึ่งเป็นสามเณรียุโรปและอเมริกันจากสายพระอาจารย์สุเมโธ ที่วัดอมราวดี และชิตเฮิรสต์ในอังกฤษ   ที่มากที่สุดคือภิกษุ ภิกษุณีและสามเณรีสายทิเบตทั้งที่เป็นชาวทิเบตมาจากธารัมศาลาในประเทศอินเดีย และภิกษุณีสามเณรีจากอเมริกาและยุโรป 
      ภิกษุณีและสามเณรีที่มาร่วมประชุมครั้งนี้ จำนวนเป็นร้อย ทั้งที่เสนอผลงานและมาเข้าร่วมประชุมทั่วไป
      จำนวนผู้ที่เข้าร่วมประชุมที่ลงทะเบียนสูงถึง ๔๐๐ คน  หมายถึงว่ายังมีอีกจำนวนหนึ่งที่มาฟังเป็นช่วงๆและไม่ได้ลงทะเบียนเต็ม ๒ วัน
       ในการนำเสนอผลงานทางวิชาการนั้น  แยกเป็นเช้า สองช่วง บ่ายสองช่วง ช่วงหนึ่งมี ๘ เรื่อง แต่ละคนจะมีเวลาเสนอที่จำกัดเพียง ๑๕ นาที การควบคุมเวลาทำได้ดีพอควร
 ทุกวัน ในช่วง ๑ ทุ่ม ถึง ๓ ทุ่ม จะเป็นการรวมถามตอบของแต่ละวัน
       การประชุมเสนอผลงานจัดเต็ม ๒ วัน คือวันที่ ๑๘ และ ๑๙ วันที่ ๒๐ กรกฏาคม ถือเป็นวันที่ ๓ และเป็นวันที่จะสรุปการทำงานเสนอต่อองค์ทะไลลามะ
      คืนวันที่ ๑๙ กรกฎาคม คณะทำงาน ประชุมกันอยู่ดึกเกือบเที่ยงคืน  เพื่อแสวงหาข้อเสนอถวายแก่องค์ทะไลลามะในวันรุ่งขึ้น
      ในคณะทำงานชุดนี้ มีพระภิกษุผู้ทรงความรู้ทางด้านพระวินัยจากสายต่างๆ คือพระอาจารย์โพธิ พระอังกฤษสายเถรวาท บวชมากว่า ๓๐ ปี อาวุโสสูงสุด ต่อมาเป็นท่านทิคกวางบา ชาวเวียดนามที่อยู่ในออสเตรเลีย  ท่านธรรมวิหารี พระภิกษุชาวศรีลังกาที่เป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยมากว่า ๓๐ ปี  ภิกษุ            พระอาจารย์จากธรรมเภรีคีรีในไต้หวัน ภิกษุสุชาโต พระป่าสายพระอาจารย์ชา จากออสเตรเลีย  ในฝ่ายภิกษุณี มีพระภิกษุณีอาจารย์จากเกาหลี ไต้หวัน และเวียดนาม  (ทั้งสามท่านต้องใช้ล่าม)  ท่านอาจารย์ภิกษุณีเหิงจิง จากไต้หวัน ภิกษุณีจัมปา เซ็ดดรอน ชาวเยอรมัน บวชในสายทิเบตมากว่า ๒๐ ปี เช่นเดียวกับภิกษุณีดร.กรรมะ เล็กเช โสโม ชาวอเมริกัน และภิกษุณีธัมมนันทา นักวิชาการสายพระวินัยจากประเทศไทย
      บรรยากาศในการประชุม (ลับ) เป็นไปอย่างอบอุ่น  หลวงพ่อโพธิเป็นพระนักวิชาการชาวอังกฤษที่บวชในศรีลังกา ในความอาวุโสของท่าน และในองค์ความรู้ที่ท่านได้ศึกษาพระวินัยชัดเจน และเป็นคนที่พูดภาษาอังกฤษกระจับและตรงประเด็นได้รับความเชื่อถือจากที่ประชุมโดยรวม  พระภิกษุณีสายพระวินัย ท่านหวูหมิน ออกจะเจ้าอารมณ์ ต่อความล่าช้าของคณะสงฆ์ทิเบต
      แต่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า คณะสงฆ์นานาชาติที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานนั้น   มีหน้าที่เพียงเสนอทางออก โดยหาตัวเลือกถวายองค์ทะไลลามะ ตามที่ท่านประสงค์ ส่วนการที่ท่านจะทรงเลือกทำอย่างไร ประการใด นั้น ต้องเป็นเรื่องของพระองค์ท่าน
      เป็นที่เข้าใจและตกลงร่วมกันแล้วว่า  ทางคณะสงฆ์ทิเบตจะจัดการอุปสมบทภิกษุณีสงฆ์  แต่จะจัดพิธีกรรมสงฆ์อย่างไรที่จะเป็นที่ยอมรับมากที่สุด   ในการนี้สำนักงานศาสนาและวัฒนธรรมของทิเบตส่งจดหมายเวียนให้คณะกรรมการทราบถึงทางออกสองทาง กล่าวคือ
๑. การอุปสมบทโดยสงฆ์ฝ่ายเดียว  ตามนิกายมูลสรวาสติวาท  โยอ้างตามพระพุทธานุญาตที่ปรากฏในจุลลวรรค วินัยปิฎก  พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์บวชภิกษุณีได้
 ในการเสนอข้อนี้ เป็นที่ยอมรับของสามเณรีชาวทิเบต เพราะส่วนหนึ่งยังรังเกียจการอุปสมบทที่ต้องมาจากภิกษุณีจีน  ชาวทิเบตไม่ต้องการรับพระวินับสายธรรมคุปต์จากจีน
๒. การอุปสมบทโดยสงฆ์สองฝ่าย  โดยนิมนต์ภิกษุณีสงฆ์ของจีนซึ่งถือนิกานธรรมคุปต์มาเป็นพระอุปัชฌายา หรือปวัตตินี ก่อนที่พระสงฆ์ฝ่ายมูลสรวาสติวาทของทิเบตจะรับผู้บวชว่าเป็นภิกษุณี
      ข้อเสนอนี้ มีปัญหาตรงรอยต่อระหว่างสายธรรมคุปต์ (จีน)และมูลสรวาสติวาทของทิเบต
      ในที่ประชุมนักวิชาการสายพระวินัยในคืนนั้น  ได้ร่วมกันพิจารณาและเสนอ ข้อเสนอที่ ๓  โดยมีสองขั้นตอนในการทำงาน คือ
       ภิกษุณีชาวตะวันตกที่ได้รับอนุญาตให้บวชภิกษุณีกับสายจีนที่ไต้หวัน เกาหลี และฮ่องกงนั้น  บัดนี้มีจำนวนมากพอ และมีอายุพรรษาสูงกว่า ๒๐ พรรษาหลายรูป  พอที่จะเป็นคณะภิกษุณีสงฆ์ที่จะให้การอุปสมบทได้  
       แต่ภิกษุณีเหล่านี้ แม้จะถือปฏิบัติตามสายอาจารย์เดิมของตน คือสายทิเบต แต่พระวินัยที่ได้รับเป็นนิกายธรรมคุปต์ ไม่ใช่นิกายมูลสรวาสติวาท  นักวิชาการสายเถรวาท เสนอให้คณะสงฆ์ทิเบตทำพิธีทัฬหีกรรม คือการบวชซ้ำเข้าสู่นิกายมูลสรวาสติวาท  เพื่อปรับให้พระภิกษุณีเหล่านั้นมีพระวินัยต่อเนื่องกับพระภิกษุของสายทิเบต
       จากนั้น ภิกษุณีเล่านี้พร้อมที่จะเข้าพิธีให้การอุปสมบทแก่คณะสามเณรีสายมูลสรวาสติวาทกับพระภิกษุสงฆ์ของทิเบต
       คณะกรรมการ แยกย้ายกันเข้านอน ด้วยความรู้สึกว่า เราได้นำเสนอข้อเสนอที่จะเป็นไปได้มากที่สุด
       วันรุ่งขึ้น  เรารอฟังพระราชดำรัสขององค์ทะไลลามะโดยลุ้นสุดตัว
อาทิตย์หน้า จะทราบว่า ท่านตัดสินพระทัยอย่างไร
 

โปรดรอ...ด้วยดวงใจระทึก