ประชุมศาสนาพุทธโลก ถกปัญหาบวช "ภิกษุณี"

ปาฐกถา องค์ทะไล ลามะ : "สถานะของผู้หญิงในพุทธศาสนา"

"อาตมาเชื่อว่าในอดีตกาลนั้น สมาชิกทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายล้วนทียมกัน แต่ในท้ายที่สุด ภายใต้ชื่อว่า อารยธรรม (ความศิวิไลซ์), อำนาจ และสงคราม, อำนาจจึงขึ้นอยู่กันความแข็งแรงของร่างกาย และเป็นเหตุผลให้ผู้ชายเป็นผู้มีอิทธิพลในสังคมต่างๆ รวมทั้งสังคมสงฆ์ด้วย
แต่ปัจจุบันนี้ การศึกษาและความรู้ (intelligence) เป็นสิ่งสำคัญในสังคมมากขึ้น ในขณะที่ความแตกต่างระหว่างหญิงชายไม่ได้สำคัญเท่าเมื่อก่อน และในโลกปัจจุบัน ผู้หญิงหลายคนก็ได้แสดงให้เห็นว่าพวกเธอมีศักยภาพในการเรียนรู้ด้านต่างๆ การวัดอำนาจจากพละกำลังร่างกาย จึงเป็นเรื่องที่ล้าหลังไปแล้ว
อย่างไรก็ดี ในสังคมปัจจุบันนี้ ผู้คนเป็นจำนวนมากเรื่มตระหนักว่า การศึกษาและความรู้นั้นไม่พอแล้ว บางครั้งการศึกษาก็เป็นต้นเหตุของปัญหาอื่นๆ
หลายครั้งคนที่ฉลาดมากๆ ก็ใช้ความรู้ มันสมองของพวกเขาเพื่อการทำลายล้าง ดังนั้น การศึกษานับว่าเป็นสิ่งที่ดี มันต้องมีปัจจับควบคุมอื่นๆ ด้วย เพื่อที่ทำให้ความรู้เหล่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม
โดยธรรมชาติผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลเด็ก ด้วยความรัก ความเอาใจใส่ จิตใจของผู้หญิงจะมีความเป็นห่วงเป็นใย มีความอบอุ่น ในขณะที่สงครามที่เกิดขึ้น มักเกิดโดยผู้ชายซึ่งมีแนวโน้มที่จะก้าวร้าว
จริงๆ แล้วมนุษย์ทุกคน มีความก้าวร้าวและความสงบเรียบร้อยอยู่ในตัว เพียงแต่ว่าผู้ชายมีแนวโน้มที่จะชอยพอการใช้กำลังมากกว่า
ในขณะที่ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะทะนุบำรุงรักษา ทำให้ผู้ชายจำนวนมากกลายมาเป็นผู้นำ แต่ทั้นี้อาตมาก็อยากบอกว่าผู้หญิงบางคนก็จัดการด้วยยากเหมือนกัน .....
แม้ว่าสังคมหลายแห้งจะยึดติดกับขนบธรรมเนียมประเพณีที่ล้าหลัง ในหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย ประเทศในแอฟริกา ผู้หญิงได้ถูก exploited แต่ปัจจุบันเราก็เริ่มได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมหลายๆ แห่ง ซึ่งอาตมาก็สนับสนุนและเห็นใจอย่างเต็มที่...

.... ที่นี้กลับมาถึงเรื่องหลัก ในพระพุทธศาสนานั้นพระพุทธเจ้าได้ให้สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างหญิง ชาย ในการบวช
แม้ว่าจะมีพิธีการที่แตกต่างกันออกไป ตามประเพณีปฏิบัติในแต่ละสังคม แต่ว่าในทิเบตนั้น ศาสนาพุทธได้เข้ามาในทิเบตที่ประมาณศตวรรษที่ ๘ และ ๙ โดยมีพระสงฆ์จากอินเดียเดินทางมา และได้เริ่มต้นการบวชภิกษุ
แต่ว่าการบวชภิกษุณีนั้น จะต้องมีทั้งภิกษุและภิกษุณีในพิธีจึงทำให้บวชภิกษุณีไม่ได้
แม้ว่าประเพณีดังกล่าวจะถูกยึดถือกันมาอย่างเคร่งครัดจนถึงปัจจุบัน แต่อาตมาก็ได้ริเริ่มการสร้างชุมชนนักบวชหญิง (nunnery) หลายๆ ที่ มีการศึกษาพระธรรม พระวินัยอย่างเป็นระเบียบแบบแผนเหมือนในสังคมสงฆ์
ทำให้ปัจจุบันนี้เรามีนักบวชผู้หญิงหลายพันคนที่มีความรู้ความสามารถแตกฉาน
นอกจากนั้น เรายังได้มีการถกเถียง อภิปรายกับชายพุทธในนิกายอื่นๆ รวมทั้งวิจัย ศึกษาอย่างรอบด้านเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการบวชภิกษุณีในนิกายวัชรยานมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี
ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งและเป็นโอกาสที่นักบวชชาวพุทธทั้งหลายจากนิกายและประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มารวมกัน มาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นที่เป็นความกังวลร่วมกัน
อาตมาดีใจมากที่เห็นงานนี้เกิดขึ้นและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้เห็นวันที่ผู้หญิงจะสามารถบวชเป็นภิกษุณีได้ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งต่อพระพุทธศาสนา" 

แม้ว่าศาสนาพุทธในทิเบตจะเป็นนิกายวัชรยาน ซึ่งแตกต่างจากสายเถรวาทของไทย
แต่สถานการณ์ของผู้หญิงในทั้งสองนิกายก็มีลักษณะคล้ายกัน นั่นคือ ผู้หญิงไม่สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้
ด้วยพื้นฐานประเพณีการบวชที่ว่าจะต้องมีทั้งภิกษุ และภิกษุณี ในการบวชภิกษุณีรูปใหม่
แต่ในทิเบตเองนั้นไม่มีภิกษุณีมาเป็นระยะเวลากว่าพันปีแล้ว ผู้หญิงที่ต้องการบวชเรียน จีงบวชได้เพียงแค่เป็นสามเณรี  และไม่ว่าจะถือศีลประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดเพียงใด มีความรู้ควาเมชี่ยวชาญหรืออายุสูงเพียงใด ก็จะยังคงเป็นสามเณรี
หากสามเณรีรูปใดต้องการบวชเป็นภิกษุณีอย่างเต็มจะต้องเดินทางไปรับการบวชเป็นภิกษุณีอย่างเต็มตัวจะต้องเดินทางไปรับการบวชจากคณะสงฆ์ในนิกายมหายาน ซึ่งมีอยู่ในประเทศต่างๆ  เช่น เกาหลี ไต้หวัน และเวียดนาม ซึ่งมีความยากลำบากในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายสูง และแม้ได้รับการบวชแล้วก็มักไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่สงฆ์ของทิเบต
องค์ทะไล ลามะ ประมุขสงฆ์สูงสุดในพุทธศาสนาของทิเบต ได้ตระหนักถึงความไสมบูรณ์ของพุทธบริษัทสี่ (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ในพุทธศาสนาของทิเบตมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี โดยท่านบอกว่า ศักยภาพของผู้หญิงในโลกยุคปัจจุบันนั้นมีสูงมาก
ท่านเชื่อว่ามีความสามารถที่จะบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้าได้ และควรจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าศึกษาพระธรรม
ท่านจึงมีดำริตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ ให้มีคณะทำงานซึ่งประกอบไปด้วยภิกษุสงฆ์ นักวิชาการชั้นนำในด้านพระวินัยวิจัยศึกษา ความเป็นไปได้ในการบวชภิกษุณีในสายวัชรยานของธิเบต
หลังจากความพยายามในการศึกษาค้นคว้าเกือบ ๓๐ ปี จึงส่งผลให้เกิดการประชุมนานาชาติ เรื่อง “บทบาทของผู้หญิงในคณะสงฆ์: พระวินัยและการสืบสายการบวชของภิกษุณี” (the 1st International Congress on Buddhist Women’s Role in the Sangha: Bhikhuni Vinaya and Ordination Lineages) ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี
โดยองค์ทะไล ลามะ เป็นประธาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อพิจารณาและหาข้อสรุปเกี่ยวกับการบวชภิกษุณีในทิเบตว่ากระทำใดได้หรือไม่ และหากกระทำได้ จะต้องมีพิธีการอย่างไร
การประชุมดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นเพื่อพูดคุยถึงการบวชภิกษุณีในประเพณีของศาสนาพุทธทิเบตโดยตรงโดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม เป็นพระภิกษุสงฆ์ ภิกษุณี จากนิกายมหายาน เถรวาท และวัชรยาน รวมทั้งนักวิชาการ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านพระธรรมวินัยในศาสนาพุทธ เข้าร่วมประชุมกว่า ๓๐๐ คนจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นทิเบต เกาหลี ไต้หวัน เวียดนาม ศรีลังกา บังกลาเทศ อินเดีย อังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา
ส่วนตัวแทนจากประเทศไทยนั้นคือ ภิกษุณีธัมมนันทา (อดีต ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) และ พระเมตตานันโท
การประชุมตลอดทั้งสามวันนั้น เป็นไปด้วยความสงบ เรียบร้อย เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความกระตือรือร้นของนักวิชาการ ภิกษุและภิกษุณีทั้งที่เป็นผู้บรรยาย และผู้ฟัง โดยในสองวันแรกเป็นการนำเสนองานวิจัย และในวันที่สาม องค์ทะไล ลามะ เป็นประธานในการอภิปรายและแสดงเจตจำนงของท่าน
ผลจากการประชุมทั้งสองวัน ซึ่งอันแน่นไปด้วยรายงานวิจัยเกือบ ๗๐ ฉบับ ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นพ้องต้องเป็นเอกฉันท์ว่า
การบวชภิกษุณีในทิเบตสามารถกระทำได้โดยไม่ขัดพระวินัยแต่อย่างใด แต่ประเด้นที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ คือว่าวิธีการจัดบวชนั้นจะทำอย่างไร
โดยข้อถกเถียงซึ่งมีรายละเอียดในการปฏิบัติมากมายนั้น สามารถสรุปใจความได้เป็นสองทางเลือก
ทางเลือกแรก การบวชโดยคณะสงฆ์วัชรยานของทิเบตเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีข้อดีที่ว่าเป็นการสะดวก ประหยัดทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ทางเลือกที่สอง คือ การจัดบวชโดยคณะสงฆ์วัชรยานของทิเบต และเชิญภิกษุณจากนิกายมหายานมาร่วมในพิธีบวชด้วย เพื่อให้ถูกต้องตามประเพณี
ข้อดีของทางเลือกนี้ ก็คือนักบวชหญิงก็จะได้มีส่วนร่วมในพิธีการ กระบวนการคัดสรร และจะทำให้เกิดความผูกพันในหมู่ภิกษุณีด้วยกันมากขึ้น
ในขณะที่ทั้งภิกษุ ภิกษุณีทิเบตมีแนวโน้มเห็นด้วยกับทางเลือกแรก ภิกษุ ภิกษุณีจากประเทศต่างๆ มักเห็นด้วยกับทางเลือกที่สอง
แต่ทุกคนก็ยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใด ก็พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ และขอให้ท่านทะไล ลามะ ตัดสินใจว่าอนาคตของการบวชภิกษุณีจะไปทางไหนดี
หลังจากฟังข้อเสนอและความคิดเห็นของตัวแทนภิกษุ ภิกษุณีทั้งหมดแล้ว องค์ทะไล ลามะ กล่าวว่า ตัวท่านนั้นสนับสนุนการจัดการบวชภิกษุณีเต้มที่ แต่เนื่องจากยังมีภิกษุทิเบตจำนวนมากที่ไม่ยอมรับว่าการบวชภษุณีนั้นสามารถกระทำได้ รวมทั้งไม่ยอมรับภิกษุณีทิเบตทีได้รับการบวชมาจากนิกายอื่น ท่านจึงจำเป็นจะต้องนำข้อเสนอต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากในการประชุมนี้ไปนำเสนอต่อภิกษุเหล่านั้น และยังไม่สามารถตัดสินใจได้
“ในเรื่อง (การบวชภิกษุณี) นี้อาตมาไม่สามารถตัดสินใจอย่างเผด็จการได้ อาตมาไม่ใช่พระพุทธเจ้า แต่อาตมาก็เชื่อว่าหากพระพุทธเจ้ายังทรงมีชีวิตอยู่ ณ วันนี้ พระองค์ก็จะทรงอนุญาตให้มีการบวชภิกษุณีได้”
แม้ว่าท่าทีขององค์ทะไล ลามะ จะไม่ได้เป็นการฟังธงว่าจะมีการบวชภิกษุณีได้หรือไม่ แต่ท่านก็ได้กล่าวต่อว่า ท่านยอมรับภิกษุณีนิกายวัชรยาน ที่ได้รับการบวชจากนิกายมหายาน ว่าเป็นภิกษุณีในนิกายของทิเบตอย่างสมบูรณ์
และสิ่งที่สามารถเริ่มกระทำได้ในเวลานี้ ก็คือการเริ่มกิจกรรมที่สงฆ์ที่สำคัญสามประการ นั่นก็คือ การปาติโมกข์ (ปฏิบัติตามศีลของภิกษุณี) จำพรรษา และปวารณา หากเริ่มในปีนี้ไม่ทัน (เนื่องด้วยการเข้าพรรษา) ก็ให้เริ่มในปีหน้า
ภิกษุณีธัมมนันทากล่าวว่า หากกิจกรรมข้างต้นเกิดขึ้นจริงก็นับได้ว่ามีสังคมภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นแล้วในทิเบต
“ถ้อยแถลงของท่านทะไล ลามะ นับว่าเป็นการยอมรับภิกษุณีของทิเบตในระดับหนึ่ง และท่านได้สอนให้เราตระหนักว่าการมีภิกษุณีเกิดขึ้นในสังคมหนึ่งๆ นั้น ไม่ใช่อยู่เพียงแค่การตัดสินว่าจะบวชภิกษุณีได้หรือไม่ และพิธีกรรมจะเป็นอย่างไร แต่ภิกษุณีจะต้องประพฤติปฏิบัติกิจของสงฆ์ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ด้วย”
แม้ว่าผลการประชุมจะสนับสนุนการบวชภิกษุณีอย่างเต็มที่ แต่ท่านธัมมนันทาก็เห็นว่า จะได้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้นในประเทศไทย เนื่องจากคณะสงฆ์ไทย รวมทั้งเถรวาทสมาคม ไม่ยอมรับเรื่องการบวชภิกษุณีมาตั้งแต่ต้นแล้ว
กระนั้นทางก็ยังจะคงดำเนินการต่อสู้ในการเริ่มให้มีการบวชภิกษุณีในประเทศไทยต่อไป
“ก้าวย่างของเราหลังจากนี้ ยังเป็นก้าวย่างเดิม เวลานี้มีผู้หญิงไทยที่อยากบวชมาขึ้นเรื่อยๆ บางท่านก็บวชแบบมหายาน หรืออย่างทีหมู่บ้านพลัมของท่าน ติ๊ช นัต ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) ซึ่งคนเหล่านี้ก็แฮปปี้ สังคมกำลังเปิดกว้างมากขึ้น และมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าคณะสงฆ์ไทยจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม”
สุดท้าย ภิกษุณีธัมมนันทากล่าวเปรียบเทียบการยอมรับในเรื่องการบวชภิกษุณีของคณะสงฆ์ไทย ว่าเหมือนประตูปิดตาย
“เรื่องประตูปิดตายนี้ เราพูดกันบ่อยมากว่าแม้ประตูจะปิดตาย แต่ตัวล็อคเป็นสนิม และกุญแจก็หายไป ในท้ายที่สุดประตูก็พังทลายลงด้วยตัวของมันเอง เพราะโดนปลวกกิน”

ทรรศนะภิกษุ – ภิกษุณี การบวชภิกษุณีในไทย

ภิกษุณี ดร.เมียงซอง ซูนิม
ประธานสมัชชาภิกษุณีแห่งชาติของเกาหลี คณบดีวิทยาลัยสงฆ์ อุนมุง
"อาตมาเคยเดินทางไปประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว เพื่อร่วมงานวันวิสาขบูชา และรู้สึกเจ็บปวดที่ไม่มีภิกษุณีในประเทศไทย อาตมาได้เคยพูดกับพระผู้ใหญ่ในประเทศไทยในเรื่องนี้ แต่ว่าก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ
การเริ่มต้นการบวชภิกษุณีเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทย เพราะภิกษุและภิกษุณี ก็เหมือนกับปีทั้งสองของนก หากขาดปีกใดปีกหนึ่ง ก็ไม่สามารถโบยบินได้ ตั้งแต่ที่เดินทางกลับมาจากประเทศไทย ทุกเช้าที่อาตมาจะสวดมนต์ขอให้เกิดการบวชภิกษุณีขึ้นในประเทศไทย"

ภิกษุณี ดร.การ์มา เล็กเซ โซโม
ประธานสมาคมศักยธิดานานาชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาปรัชญาและศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยซานดิเอโก
"ผู้หญิงนั้นมีศักยภาพสูงมาก และอาตมาเชื่อว่าหากผู้หญิงไทยให้การสนับสนุนภิกษุณีในประเทศไทย สิ่งต่างๆ ในประเทศไทยก็จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว"

ภิกษุณี เทนซิน พาลโม่
ภิกษุณีนิกายวัชรยาน ผู้ก่อตั้งชุมนุมภิกษุณีและสามเณรี Dongyu Gatsal Ling ทางตอนเหนือของอินเดีย
"การที่ไม่ให้ผู้หญิงบวชนั้น ก็เท่ากับเป็นการเพิกเฉยต่อประชากรกว่าครึ่งในสังคมนั้นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ
ในทางโลกนั้นเราเห็นได้มากมายว่าผู้หญิงมีการศึกษาสูง มีวินัย และมีศักยภาพ การปฏิเสธให้ผู้หญิงซึ่งมีความรู้ความสามารถเหล่านี้เข้ามาสู่โลกทางธรรม ทำให้ศาสนาพุทธดูไม่ดี ในสายตาชาวโลก
อาตามาเห็นว่าการปฏิเสธไม่ให้ผู้หญิงบวชนั้นเป็นเรื่องที่มองการณ์ใกล้มาก ภิกษุทั้งหลายไม่ควรกลัวการอนุญาตให้บวชภิกษุณีได้เพราะนั่นคือหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยยกระดับพระพุทธศาสนาขึ้น"

ภิกษุ Sujato
ได้รับการบวชจากวัดป่านานาชาติของหลวงปู่ชา ผู้ก่อตั้งวัดป่าสันติขึ้นในออสเตรเลีย
"อาตมาสนับสนุนการบวชภิกษุณีเต็มที่ เพราะเห็นว่าหากผู้หญิงคนใดมีความประสงค์ที่จะบวช เธอควรได้รับโอกาสนั้น ไม่ว่าพระสงฆ์จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม อาตมายังหวังด้วยว่า คณะสงฆ์ไทยจะตระหนักได้แล้วว่าศาสนาพุทธแบบไทยนั้น ไม่ได้อยู่ได้แต่เพียงลำพังในโลก หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมพุทธของโลก สิ่งที่สำคัญที่ต้องพิจารณาในการจัดการบวชอีกอย่างก็คือ ภิกษุณีในสายเถรวาทนั้นยังเป็นเรื่องใหม่มาก และเพิ่งมีการพัฒนาขึ้นมา ดังนั้นภิกษุณีเองจะต้องหาหนทางที่จะสร้างความเข้มแข็งภายในสังคมของตนเองด้วย"

โสภาพร ควร์ซ
รายงานจากฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี

จาก หน้า ๓๓ หนังสือพิมพ์มติชน วันพฤหัสบดีที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๐ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๘/๘ ปีกุน