สองปีที่ผ่านมา กระแสความคิดเห็นเรื่องภิกษุณีในประเทศไทยที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชน เปลี่ยนไปตามลำดับ สื่อเริ่มแสดงความเข้าใจ และให้ความระมัดระวังกับประเด็นที่ละเอียดอ่อนนี้มากขึ้น จากท่าทีที่เคยค้านหัวชนฝา และสร้างภาพบิดเบือนจนทำให้ผู้หญิงที่บวชภิกษุณีและสามเณรีกลายเป็น อมนุษย์ มาสู่ท่าทีที่พร้อมจะศึกษาข้อเท็จจริง และยอมรับว่ามีอะไรบ้างที่สื่อไม่รู้ อย่างไรก็ตาม เรื่องของภิกษุณียังจำเป็นต้องอาศัยมุมมองข่าวที่พัฒนาและก้าวพ้นจากเพียงแค่เป็นเรื่องของความขัดแย้ง เพราะไม่เช่นนั้น ข่าวเรื่องภิกษุณีก็จะเต็มไปด้วยการปะทะกันทางความคิดความเชื่อของสองฝ่าย ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ในทางสติปัญญาใดๆ แก่สังคม และยังทำให้ชาวพุทธจมอยู่กับม่านหมอกแห่งอคติทางเพศที่ปิดกั้นโอกาสที่จะแสวงหาความแจ่มชัดในเรื่องนี้ด้วย การรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บางฉบับถึงบรรยากาศของการเสวนาเรื่องการบวชภิกษุณีในประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ซึ่งเป็นการรายงานผลการศึกษาและเปิดเวทีสาธารณะของอนุกรรมาธิการด้านสตรี วุฒิสภานั้น ได้สะท้อนถึงการมองข่าวนี้ผ่านเลนส์แห่งความรุนแรง ด้วยการระบุว่ามีความไม่พอใจจากภิกษุณีถึงกับวอล์กเอาท์จากที่ประชุม ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงก็คือ นักข่าวของไอทีวีได้นิมนต์ธัมมนันทาภิกขุนี (อดีตรศ.ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) ออกไปให้สัมภาษณ์นอกห้องประชุมชั่วคราว เรื่องความเป็นไปได้ของการสถาปนาภิกษุณีในประเทศไทยนั้น ชาวพุทธต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจด้วยการย้อนกลับไปศึกษาหลักฐานทางพุทธศาสนาอย่างละเอียด ต้องมีความเป็นธรรมและศรัทธามั่นในหลักกาลามสูตรของพระพุทธองค์ที่ทรงสอนไม่ให้เชื่อตามที่เขาบอกหรือปฏิบัติกันต่อๆ มา ต้องมองให้เห็นถึงบริบททางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของการจารึกพระไตรปิฏกเมื่อประมาณ 450 ปีหลังพุทธปรินิพพานว่าเพราะเหตุใด เรื่องของภิกษุณีซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลถึงไม่ได้รับการบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนสมบูรณ์เฉกเช่นกับองค์ความรู้เกี่ยวกับภิกษุสงฆ์ และเพราะเหตุใดพุทธวัจนะของพระพุทธองค์ที่ปรารถนาให้พี่น้องแห่งพุทธบริษัทสี่คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาช่วยกันรักษาสืบทอดพระศาสนา จึงได้ถูกเลือกรับและเลือกปฏิบัติเหลือเพียงแค่สามองค์ประกอบในสังคมไทย ประเด็นความเข้าใจที่ยังมีความคลุมเครือในเรื่องของพระธรรมวินัย และประวัติศาสตร์การสืบสายภิกษุณี เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนควรมีส่วนร่วมแสวงหาข้อเท็จจริงและเผยแพร่สู่สังคม องค์ความรู้เหล่านี้ได้มีนักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญาทั้งในและต่างประเทศศึกษาไว้พอสมควร รวมทั้งรายงานของอนุกรรมาธิการฯ ซึ่งสมควรได้รับการอ้างอิง ข้อโต้แย้งจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่าการบวชภิกษุณีทำไม่ได้เพราะต้องดำเนินการโดยสงฆ์สองฝ่ายคือภิกษุและภิกษุณี ซึ่งเมื่อสังคมไทยยังไม่มีภิกษุณี ก็ย่อมไม่สามารถบวชได้นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและได้ก่อให้เกิดการปิดประตูไม่ยอมเจรจาหรือการตั้งแง่ของความขัดแย้ง ทั้งๆ ที่ในพระไตรปิฏก เล่มที่ 7 วินัยปิฏก ได้บันทึกเรื่องพระพุทธานุญาตของพระพุทธองค์ที่ให้ภิกษุสงฆ์บวชภิกษุณีได้ และไม่เคยมีการเพิกถอนคำสั่งนี้แต่อย่างใด ส่วนการอ้างว่าสังคมไทยไม่เคยมีภิกษุณีมาก่อน ย่อมไม่ได้หมายความว่าจะมีไม่ได้ตลอดไป บริบทในปัจจุบันมีผู้หญิงที่มีศักยภาพ ความพร้อม และมีชุมชนที่เป็นทั้งหญิงและชายให้การสนับสนุน จึงน่าจะช่วยกันพิจารณาและให้โอกาสแก่ผู้หญิงได้เลือกที่จะเดินตามทางของพระพุทธองค์ อันเป็นโอกาสที่ผู้หญิงเคยได้รับมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล จิตสำนึกแห่งธรรมะที่ปราศจากอคติทางเพศและความเคารพในความแตกต่างระหว่างเพศ ทั้งที่บันทึกในหลักฐานทางพระศาสนา และที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ 2540 คือสิ่งที่ชาวพุทธต้องร่วมสร้าง และสื่อมวลชนในฐานะกลไกแห่งการสร้างความรู้ต้องช่วยกันคลี่คลายประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้ง และแยกแยะให้ออกระหว่างความรู้กับอคติ เสียงสนับสนุนจากส่วนใหญ่ของผู้ร่วมการเสวนาในที่ประชุมของรัฐสภาวันนั้น และข้อย้ำเตือนจากผู้อาวุโสบางท่าน ให้คนไทยช่วยกันก้มลงมองจุดที่ตัวเองยืนอยู่ และตอบตัวเองว่าเรามีอคติใดที่กลายเป็นความเคยชินจนไปบดบังความรู้ในเรื่องนี้บ้าง น่าจะเป็นการกระตุกจิตสำนึกของทุกๆ ฝ่าย นอกจากการสร้างความเข้าใจโดยสื่อมวลชนแล้ว สถาบันทางวิชาการต่างๆ ควรพิจารณานำเอาเรื่องของภิกษุณี ทั้งด้านประวัติศาสตร์ พระธรรมวินัย และบทบาทต่อสังคม บรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนด้านพุทธศาสนา เพื่อทำให้ความรู้อีกด้านหนึ่งที่หายไปได้กลับคืนมา และหากนักเรียนนิสิตนักศึกษามีโอกาสเข้าถึงข้อมูลในเรื่องนี้มากขึ้น ก็จะสามารถช่วยลดความสับสนทางปัญญาให้แก่สังคมได้บ้าง ที่สำคัญคือ สถาบันการศึกษาของสงฆ์ต้องพิจารณาปรับปรุงการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องนี้ด้วย การที่ปิดกั้นไม่พูดถึงเรื่องนี้ในหมู่การศึกษาของสงฆ์ เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เพราะภิกษุสงฆ์คือหนึ่งในสถาบันหลักที่จะช่วยเปิดทางแห่งปัญญาให้แก่สังคม ไม่เพียงแต่การพูดและการเผยแพร่ในด้านความรู้เท่านั้น สิ่งที่จำเป็นต้องเน้นย้ำก็คือ การสำรวจหาอคติและความเชื่อที่สัมพันธ์กับค่านิยมทางเพศซึ่งให้ค่ากับผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชายและเจือปนอยู่กับหลักปฏิบัติทางศาสนา เช่น ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่สามารถบรรลุอรหันต์ได้เพราะมีสรีระที่สกปรก ผู้หญิงเป็นศัตรูต่อพรหมจรรย์ การบวชภิกษุณีทำให้ศาสนาเสื่อมลง และความเชื่ออีกมากมายที่กีดกันผู้หญิงให้อยู่เฉพาะในที่ทางซึ่งถูกขีดวงจำกัดไว้ให้ คือ เป็นได้แค่แม่ชี อุบาสิกา หรือไม่ก็ไปบวชในสายมหายาน หากช่วยกันพิจารณาทำความเข้าใจโดยอาศัยพระปณิธานของพระพุทธองค์ที่ต้องการยกเลิกความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นที่ตั้ง พิจารณาถึงแก่นของพระธรรมวินัยที่ไม่แตกต่างกันระหว่างเถรวาทและมหายาน และช่วยกันรื้อถอนวาทกรรมที่เลือกปฏิบัติทางเพศนี้ สังคมจะมองเห็นอะไร ๆ ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ผู้หญิงที่อยากปฏิบัติธรรมต้องมาบวชเป็นภิกษุณีทุกคน แต่การมีความหลากหลายและมีทางเลือกสู่การปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะตัดตรงหรือตัดอ้อม ก็ควรเป็นสิทธิที่ผู้หญิงพึงได้รับเฉกเช่นกับผู้ชายมิใช่หรือ
สังคมพุทธเป็นสังคมที่มีเมตตาและมีความเที่ยงธรรม
หากชาวพุทธทุกคนช่วยกันทำความเข้าใจ และสนับสนุนให้พุทธบริษัททั้งสี่
ได้ตั้งใจรับใช้พระศาสนาตามแต่กำลังความสามารถและสติปัญญา
ก็น่าจะเป็นแนวทางแห่งพุทธคุณ และเป็นการถวายความศรัทธาต่อพระพุทธองค์
ชาวพุทธจึงควรจะช่วยกันพูดเรื่องนี้อย่างมีใจเป็นธรรมและอย่างผู้รู้ด้วยเถิด.
|
สถานที่ติดต่อ
วัตรทรงธรรมกัลยาณี
เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม ต.
พระประโทน
อ. เมืองฯ จ. นครปฐม 73000
โทร. (034) 258-270 โทรสาร (034) 284-315
ติชม [email protected]